ประเด็นการพบเชื้อโควิด-19 ในสัตว์ต่างๆ...สวนสัตว์นิวยอร์กพบในเสือโคร่งมลายู ฮ่องกงมีสุนัข 2 ตัว ติดเชื้อ เบลเยียมพบเชื้อในอุจจาระและอาเจียนของแมว 1 ตัว และล่าสุดพบแมวอีก 2 ตัวติดเชื้อที่นิวยอร์ก

ส่งผลให้มีการกล่าวขานอย่างหนาหูในแวดวงสังคมคนรักสัตว์...เราและสัตว์เลี้ยงจะอยู่กันต่อไปอย่างไรดี?

สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์เล็กโลก หรือ World Small Animal Veterinary Association (WSAVA) ออกโรงให้ผู้เลี้ยงสัตว์สบายใจได้

สัตว์ที่ติดเชื้อโควิด ไม่สามารถนำเชื้อมาติดคนหรือสัตว์อื่นๆ ได้...มีแต่คนเท่านั้นที่นำเชื้อไปติดสัตว์

ด้านวงการสัตวแพทย์บ้านเรา น.สพ.เกษตร สุเตชะ จากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ออกมาแนะนำวิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงให้ทั้งบุคลากรในสถานพยาบาลสัตว์และเจ้าของสัตว์เลี้ยง... ปัจจุบัน (เมษายน 63) ยังไม่มีการพิสูจน์ว่า มีการติดเชื้อจากคนมาสู่สัตว์จริงหรือไม่

มีแต่การศึกษาวิจัยในห้องทดลองของประเทศจีน โดย Jianzhong Shi และคณะวิจัย บอกว่า ได้ทดลองฉีดเชื้อโควิด-19 ในปริมาณมากๆเข้าทางจมูกของสัตว์ 6 ชนิด ได้แก่ หมา แมว หมู เป็ด ไก่ และเฟอร์เร็ต ผลการ ทดลองในเบื้องต้นพบว่า แมวกับเฟอร์เร็ตติดเชื้อนี้ได้ และแสดงอาการป่วย แต่ไม่แพร่เชื้อสู่สัตว์ชนิดอื่นๆ

...

ส่วนหมา หมู เป็ด ไก่ ไม่แสดงอาการป่วย และเมื่อตรวจละเอียดกลับไม่พบการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ แต่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพราะเป็นเพียงการทดลองเบื้องต้น ไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย

น.สพ.เกษตร แนะอีกว่า ถ้าเจ้าของสัตว์เลี้ยงป่วยด้วยโควิด-19 ไม่ควรสัมผัสกับสัตว์ ทั้งการกอด จูบ ลูบ หรือกระทั่งนั่งกินอาหารร่วมกัน เพราะทำให้เชื้อโรคจากผู้ป่วยไปเปื้อนตามตัวสัตว์

ดังนั้น ขอให้ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล และหลีกเลี่ยงสัมผัสผู้อื่นจนกว่าจะรักษาหาย

ส่วนสัตว์เลี้ยงที่มีความใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรจับอาบน้ำด้วยแชมพูจนสะอาดทั่วทั้งตัว ก่อนจะเลี้ยงต่อไปตามปกติ ในแบบแยกเดี่ยวอย่างน้อย 14 วัน เพื่อรอดูอาการป่วย ถ้าไม่มีอาการใดๆ นำออกมาเลี้ยงรวมตามปกติ แต่เข้มงวดเรื่องความสะอาด ล้างมือด้วยสบู่หลังเล่นกับสัตว์เลี้ยง และทำความสะอาดบ้านเรือนอย่างสม่ำเสมอ

ขณะเดียวกัน เมื่อพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ เจ้าของสัตว์ต้องมีสุขภาพแข็งแรง ทั้งสัตวแพทย์และเจ้าของสัตว์จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลา ยืนคุยห่างกันประมาณ 1 เมตร ช่วยจับสัตว์ฉีดยา ทำแผลได้ แต่ต้อง ล้างมือหลังจากนั้นด้วยสบู่ทุกครั้ง มีการวัดอุณหภูมิร่างกายเจ้าของสัตว์ก่อนพบสัตวแพทย์ ควรนัดหมายเวลาล่วงหน้าเพื่อคนจะได้ไม่แออัดในสถานพยาบาลสัตว์

...

และเมื่อเข้าห้องตรวจโรค ต้องปฏิบัติตามกฎ เจ้าของ 1 สัตว์เลี้ยง 1 ญาติคนอื่นๆขอให้นั่งรอข้างนอก เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อสู่สัตวแพทย์ เท่านี้คนและสัตว์ก็สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข.

ไชยรัตน์ ส้มฉุน