ทำนาปลูกข้าวพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน แต่ต่างคนต่างปลูก ไม่มีการรวมกลุ่ม ถึงเวลาขายที่ไหนให้ราคาดีจะบอกต่อๆกัน เมื่อเอาข้าวไปขาย จุดรับซื้อให้ราคาเท่าไรก็ต้องยอม เพราะค่าใช้จ่ายจิปาถะรอเรียงราย ทั้งค่าปุ๋ยค่ายา”

นายติวานนท์ นิยม ชาวบ้าน ต.สมยาง อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร เล่าว่า หลังมีโครงการนาแปลงใหญ่ ทำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มและศูนย์วิจัยข้าวร้อยเอ็ดเป็นพี่เลี้ยงอบรมให้ความรู้ ช่วยจัดหาเมล็ดพันธุ์ปุ๋ยง่ายขึ้น ยังเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะเครื่องมือทุ่นแรงอย่างรถหยอด-รถดำข้าว จากที่ทำนาหว่านใช้ทั้งเมล็ดพันธุ์จำนวนมาก กอข้าวเล็ก ผลผลิตได้น้อย ก็เปลี่ยนมาทำนาหยอด ลดจำนวนเมล็ดพันธุ์ ควบคู่กับการอบรมทำนาประณีต ข้าวกอใหญ่ เมล็ดแน่น ข้าวมีน้ำหนักดีมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด กลายเป็นจุดเปลี่ยนตลาดเริ่มเข้าหา และซี.พี.ข้าวตราฉัตรเป็นหนึ่งในจำนวนนี้

“หลังเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิกับซี.พี.ข้าวตราฉัตร การขายข้าวเปลี่ยนไป มีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานข้าว ราคาก่อนปลูก หากทำได้ตามเกณฑ์ถึงเวลาขายข้าว ได้ราคาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน แตกต่างจากเมื่อก่อน ที่เอาแน่เอานอนกับราคาไม่ได้ พ่อค้าคนกลางยังเปลี่ยนไปเรื่อย”

...

หากต้องการปลูกข้าวให้ได้มาตรฐาน ขายข้าวได้ราคาตามเกณฑ์ ชาวนาต้องเอาใจใส่ลงแปลงนา ก่อนปลูกไถพลิกหน้าดินตากแดด ล่อให้เมล็ดหญ้า ข้าวที่ตกหน้าดินงอก เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ทำนาหยอด นาดำ ข้าวที่ขึ้นจะเป็นแถวเป็นแนว มีระเบียบ หากมีข้าวดีดข้าวเด้งขึ้น สังเกตเห็นกำจัดง่าย หมั่นลงแปลงนากำจัดพันธุ์ปน ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์อื่นที่ติดมาจากรถที่รับจ้างเกี่ยวข้าวจากภาคกลาง เก็บกำจัดวัชพืชออก วิธีนี้ข้าวกอใหญ่ เมล็ดข้าวมีน้ำหนักใส่ปุ๋ยดูแลง่าย ข้าวได้คุณภาพตั้งแต่อยู่ในแปลงนา ใกล้ถึงเวลาเก็บเกี่ยวรู้ว่าขายได้ราคาเท่าไร

หลังเกี่ยวข้าวหมดช่วงพักดิน ติวานนท์บอกว่า หากเป็นนาดอน จะปั่นไถกลบตอซังพลิกหน้าดิน ส่วนแปลงที่มีน้ำขังใช้วิธีไถปั่นหมักให้ตอซังเน่า ระหว่างนี้ ทีมงานซี.พี.ข้าวตราฉัตร จะเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ เพื่อให้รู้ว่าโครงสร้างดินในแต่ละฤดูเพาะปลูกเป็นอย่างไร ควรใส่ปุ๋ยสูตรไหนในฤดูเพาะปลูกถัดไป ให้ตรงกับความต้องการข้าว หลังปรับเปลี่ยนการจัดการทำให้ได้ข้าวไร่ละ 550-600 กก.

จากเดิมทำนาหว่านได้ข้าวแค่ไร่ละ 450 กก.

นายไตรรัตน์ อุดมศรีโยธิน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส งานพัฒนาวัตถุดิบต้นน้ำ บริษัทข้าว ซี.พี. (ตราฉัตร) เผยว่า ข้าวคุณภาพไม่ได้อยู่ที่กระบวนการแปรรูปปลายทางเพียงอย่างเดียว สำคัญที่สุดอยู่ที่ชาวนา สนใจเอาใจใส่ทุกเรื่องตั้งแต่สภาพดินแปลงนาในแต่ละปี ขยันหมั่นตรวจแปลงนา กำจัดวัชพืชข้าวดีด ข้าวเด้ง ทำให้ได้ข้าวหอมมะลิคุณภาพ ซึ่งเกษตรกรในโครงการพื้นที่ในแถบทุ่งกุลาร้องไห้ ต้องเอาใจใส่เรื่องนี้ให้มาก.

เพ็ญพิชญา เตียว