มีบันทึกของอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับปลัดกระทรวงถึงการปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานเพื่อเผชิญวิกฤตการณ์ของส่วนราชการ มีหลายรูปแบบทั้งสำหรับผู้ปฏิบัตินี้โดยตรง และหน่วยยุทธศาสตร์
เป็นทัศนะที่น่าสนใจ ที่ข้าราชการทั้งหลายพึงรับรู้ในสาระที่ระบุว่า
จากวิกฤตการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับในเรื่องตัวชี้วัดประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของส่วนราชการต่างๆตระหนักถึงภาระที่ส่วนราชการในช่วงนี้ที่จะต้องระดมสรรพกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่เกิดขึ้น
นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. ชี้แจงว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เสนอมาตรการเชิงรุกเพื่อปรับแนวทางการประเมินของส่วนราชการและองค์การมหาชนประจำปีงบประมาณ 2563 โดยมีจุดมุ่งหมายให้หน่วยงานได้มุ่งระดมสรรพกำลังและทรัพยากรเพื่อแก้ไขวิกฤติ COVID-19 โดยไม่ต้องกังวลต่อการทำงานเพื่อตอบเป้าหมายตัวชี้วัดภารกิจที่กำหนดไว้แต่เดิม จึงเปิดโอกาสให้ส่วนราชการและองค์การมหาชน สามารถปรับค่าเป้าหมาย น้ำหนัก หรือยกเลิกตัวชี้วัดบางตัวที่ไม่สามารถดำเนินการได้ และนำภารกิจที่ปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาวิกฤติ COVID-19 หรือสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหรือช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนนำมากำหนดตัวชี้วัดใหม่เพื่อใช้ทดแทนตัวชี้วัดเดิมได้ เช่น
-การแก้ไขปัญหาการระบาดของโรค COVID-19 ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข และหน่วยงานในภูมิภาคของกระทรวงมหาดไทย
-การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยมาตรการทางภาษี เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ และการให้ SMEs สามารถหักรายจ่ายที่เป็นค่าจ้างสำหรับคำนวณภาษีได้ 3 เท่าของกรมสรรพากร เป็นต้น
...
-การนำแอปพลิเคชันและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริการประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทางมารับบริการของรัฐ เช่น การเปิดใช้ช่องทางอีเมลหรือไปรษณีย์ในการ บริการประชาชนแทนการเดินทางมาด้วยตนเองของกรมการกงสุล
-การอำนวยความสะดวกหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตรวมถึงผู้ผลิตซอฟต์แวร์เพื่อให้บริการแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ในสถานการณ์ COVID-19
-การบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับแรงงาน เช่น การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน การลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง/ผู้ประกันตน การขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง/ผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคม เป็นต้น
แนวทางที่จะปรับเป็นตัวชี้วัดใหม่นี้ ก.พ.ร.ได้แจ้งให้กระทรวง กรม องค์การมหาชน ได้รับทราบแล้ว เพื่อมิให้กังวลต่อการปฏิบัติงานในเรื่องตัวชี้วัดเป้าหมายในแผนการปฏิบัติงานจากสถานการณ์ปกติ
งานนี้ต้องขอชื่นชมสำนักงาน ก.พ.ร.ที่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และตอบสนองต่อการบริหารที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เพิ่มภาระให้กับส่วนราชการ และยังได้นำกลับมาสู่ “รูปแบบการบริหารงานในภาวะฉุกเฉิน” ที่สะท้อนจากตัวชี้วัดต่างๆเหล่านี้ด้วย
หากหน่วยงานใดยังไม่เข้าใจลึกซึ้งเพียงพอขอเพียงติดต่อกับสำนักงาน ก.พ.ร.ได้เลย.
“ซี.12”