ปัญหามลพิษทางอากาศจากหมอกควันรวมถึงฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือที่รุนแรงขึ้นทุกปีนั้น เป็นผลจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น การเผาในภาคการเกษตร การตัดไม้ทำลายป่าซึ่งทำหน้าที่ดูดซับควันและเป็นแนวกันไฟตามธรรมชาติ วันนี้ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้เดินทางร่วมกับโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน (ตามรอยพ่อฯ) มายังพื้นที่ป่าใน อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ “ด่านแรก” ในการซับหมอกควันที่เข้าสู่เชียงใหม่ และยังเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ แต่ตอนนี้เริ่มได้รับผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำเกษตรเชิงเดี่ยวมากขึ้น จนอาจทำให้เราสูญเสียป่าซับควันผืนนี้ไปได้
โครงการตามรอยพ่อฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และภาคีเครือข่าย ได้เดินทางมาจัดกิจกรรม ‘เอามื้อสามัคคี’ เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบตามศาสตร์พระราชาผืนแรกของ อ.กัลยาณิวัฒนา โดยระดมอาสาสมัครจากทั่วประเทศกว่า 60 ชีวิต รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ นำโดยผู้เชี่ยวชาญอย่าง “ครูบาจ๊อก” หรือพระวีระยุทธ์ อภิวีโร พระนักพัฒนาแห่งวัดพระบรมธาตุ ดอยผาส้ม อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และ “อาจารย์ณัฐ” ณัฐพงษ์ มณีกร อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคม สถาบันอาศรมศิลป์ มาเปลี่ยนแปลงเกษตรของ “พี่นู” หรือคุณนพรัตน์ เด่นสอยดาว เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ให้ความรู้ ความเข้าใจ พร้อมลงมือทำจริง ในการจัดการพื้นที่แบบโคก หนอง นา โมเดล ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ซึ่งจะเป็นทางรอดที่ยั่งยืนของทุกคน
ป่าสนต้นน้ำ ปราการซับควัน
อ.กัลยาณิวัฒนา หรือที่ชาวปกาเกอะญอเรียกว่า “มือเจะคี” หมายถึงต้นน้ำแม่แจ่ม มีความสำคัญต่อคนทั้งประเทศ เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำแม่แจ่ม และแม่น้ำปาย ไหลลงสู่แม่น้ำปิง และแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป ดังนั้น ถ้าพื้นที่นี้แห้งขาดน้ำ พื้นที่ข้างล่างก็แห้งแล้งไปด้วย หรือถ้าพื้นที่นี้อุ้มน้ำไม่ได้ ชะลอน้ำไม่ไหว ข้างล่างก็เดือดร้อน น้ำท่วมไปด้วย
พื้นที่นี้ยังมีความสำคัญในฐานะ ‘ป่าซับควัน’ ทำหน้าที่เป็นปราการตามธรรมชาติดูดซับควันไฟป่าที่จะเข้าสู่เชียงใหม่จากพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากต้นไม้ที่นี่ดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี จึงควรเน้นสนับสนุนให้ชาวบ้านทำการเกษตรอย่างยั่งยืน แบบผสมผสานให้ได้ โดยเน้นการบริหารจัดการน้ำให้ดินเป็นฟองน้ำธรรมชาติ รักษาดินให้ชุ่มชื้น ปลูกอะไรก็งอกเงย แถมยังเป็นแนวกันไฟเปียก ทำให้ไม่เกิดไฟป่า ป้องกันการลุกลามได้
ครูบาจ๊อก เล่าถึงเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกนำร่องสร้างพื้นที่ต้นแบบที่ อ.กัลยานิวัฒนา ว่า “โดยรอบของอำเภอ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสน มีความสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำ ดินยังดี และไม่มีสารปนเปื้อนมาก เหมาะกับเป็นพื้นที่ต้นแบบ เพราะไม่ต้องฟื้นฟูมาก เริ่มได้เลย ที่สำคัญเริ่มมีการตัดไม้เปิดพื้นที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ดี ส่งผลร้ายระยะยาวแน่นอน ต้องเริ่มเข้ามาให้ความรู้เรื่องการจัดการน้ำ ป่า และการเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน ก่อนที่ป่าซับควันของเราจะพังไปมากกว่านี้”
ก้าวแรกเพื่อชาวกัลยาณิวัฒนา สู่ทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก
“เริ่มต้นจากชวนชาวบ้าน และเกษตรกร 15 คน ไปอบรมที่ศูนย์การเรียนรู้วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม สอนเรื่องโคก หนอง นา โมเดล อยากให้เขารู้จักการลดทุกอย่างแต่คุ้มค่า หรือเราเรียกว่าเกษตรประณีต” ครูบาจ๊อกกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของความตั้งใจพัฒนาพื้นที่นี้
“จากที่ไป 15 คน มีชาวบ้านกลับมาทำจริงๆ แล้ว 4 แปลง ถือว่าเป็นกลุ่มแรกที่กล้าเริ่มออกมา 'รอด' เดินตามศาสตร์พระราชา เพราะศาสตร์พระราชาคือทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก” ครูบาจ๊อกกล่าวด้วยความหวัง ว่ากลุ่มนี้จะเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญของพื้นที่ ซึ่งก็มีการติดตาม ช่วยเหลือแนะนำกันอย่างต่อเนื่อง
อย่างกิจกรรมในวันนี้ก็ได้ชวนทุกคนมาเอามื้อสามัคคี ในพื้นที่ของพี่นู หรือคุณนพรัตน์ เด่นสอยดาว หวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายขึ้น โดยอาจารย์ณัฐพงษ์ มณีกร ยืนยันว่า “การมีต้นแบบที่สำเร็จมาก่อนแล้ว จะทำให้คนที่ไม่กล้า เห็นภาพเร็ว และชัดมาก เขาจะกล้าก้าวมารอดด้วยกัน”
ห้องเรียนธรรมชาติ ทำจริง ลุยจริง เข้าใจได้ทันที
“คนมีใจ” หรืออาสาสมัครจากทั่วประเทศพร้อมชาวบ้านในพื้นที่รวมแล้วกว่า 60 คน ได้มาร่วมลงแรง “เอามื้อสามัคคี” กันที่นี่
“วันนี้เรามาช่วยกันทำให้เห็นว่าพื้นที่เนินเขาสูงชันแบบนี้ก็ทำได้ ศาสตร์ของพระราชาคิดมาแล้วอย่างดี เพื่อประชาชนทุกคนจริงๆ การเอามื้อสามัคคีก็เหมือนการลงแขก พระราชาบอกว่าให้ทำแบบคนจน อย่าทำแบบคนรวย ใช้แค่จอบคนละอันเท่านั้น ช่วยกันด้วยความสามัคคี” อาจารย์ณัฐพงษ์ มณีกร หัวเรือหลักของวันนี้กล่าว
ทุกคนเริ่มต้นเรียนรู้ศาสตร์พระราชาด้วยการขุดคลองไส้ไก่ บนเนินเขา ในพื้นที่ของพี่นู โดยคลองไส้ไก่ คือ การขุดร่องน้ำแบบคดเคี้ยว เลียนแบบหนองน้ำตามธรรมชาติ เพื่อกักเก็บ ชะลอน้ำและกระจายความชุ่มชื้นไปทั่วบริเวณพื้นที่เพาะปลูก
ต่อจากนั้นก็ปลูกป่า และเรียนรู้การห่มดินด้วยฟางรวมถึงใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพลงไปเพื่อให้อาหารแก่ดิน เพื่อรักษาความชื้น และทำให้สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในดินเกิดการขยายตัวมากขึ้น เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน
เจ้าของแปลงเอามื้อสายบ้า กล้าเปลี่ยนด้วยความเชื่อ เลือกทางรอดที่ยั่งยืน
พี่นู นพรัตน์ เด่นสอยดาว เจ้าของแปลงเอามื้อสามัคคีในวันนี้ ผู้เลือกรอดตามศาสตร์พระราชา จากบัณฑิตสัตวศาสตร์ สู่พนักงานออฟฟิศ มนุษย์เงินเดือน ที่สิ้นเดือนทีก็เหมือนสิ้นใจ มีรายได้เดือนชนเดือน พอกลับมาที่บ้าน เห็นว่าเรามีพื้นที่อยู่แล้ว ทำให้จุดประกายอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีกว่านี้
“เมื่อก่อนอยากซื้อข้าว ก็ทำงานให้ได้เงิน แล้วเอาไปซื้อข้าว พอไม่มีเงิน ก็ไม่มีข้าว แบบนี้เริ่มคิดว่าไม่ใช่ ถ้าลองเปลี่ยนเป็นเราปลูกเอง เราก็จะมีกินได้สบายๆ หรือถ้าอยากได้ออกซิเจน 100% เราก็ทำพื้นที่ของเราให้มีออกซิเจน ผมไม่อยากหาเงินเยอะๆ เพื่อเอาไปซื้ออากาศบริสุทธิ์” พี่นูบอกถึงจุดเริ่มต้น
ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ของครอบครัวก็ทำการเกษตรเชิงเดี่ยวมาก่อน พี่นูบอกว่า “เกษตรเชิงเดี่ยวต้องใช้แรงตลอด ถ้าไม่ออกแรงก็ไม่ได้เงิน แต่ถ้าเกษตรผสมผสาน เราจะมีกินหลากหลายตลอดปีในพื้นที่ของเราเอง ไม่ต้องรอเงินจากใคร”
“แต่ศาสตร์ของพระราชามันเหนื่อยนะ ลองผิดลองถูกมาเยอะ กว่าจะได้ต้องมีความเชื่อ และความเพียร แต่ทำได้จริงแล้วมันคุ้ม คุ้มไปตลอดชีวิต”
เมื่อถามพี่นูถึงเรื่องเงินว่าพอใช้มั้ย พี่นูตอบกลับด้วยรอยยิ้มที่ภาคภูมิใจว่า “แค่พอมีพอกิน มีอิ่มวันต่อวัน ก็มีความสุขแล้ว”
3 หัวใจสำคัญในการตามรอยศาสตร์พระราชา จากอาจารย์ณัฐพงษ์ มณีกร
ศาสตร์ของพระราชา ทางรอดเดียวที่ยั่งยืนที่สุด และเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ โดยเริ่มง่ายๆ ที่ความเข้าใจ ศรัทธา และแสวงหา
1. เข้าใจพิษภัยของปัญหาที่เราเจอก่อน โดยเฉพาะเรื่องการใช้เงินไปกับความอยากได้อยากมีที่เกินพอดี แล้วเราจะเห็นทางสว่างเลยว่านี่ไม่ใช่ทางรอดของชีวิตที่แท้จริง
2. ศรัทธาในแนวทาง เชื่อมั่นว่าศาสตร์พระราชาคือทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก และไม่เอาเงินเป็นที่ตั้ง ให้เอาของกินเป็นที่ตั้ง
3. แสวงหาความรู้ พร้อมลงมือถืออย่างอดทน และเข้าใจ เพราะไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ค่อยเป็นค่อยไปอย่าใจร้อน พยายามศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญหรือคนที่ทำสำเร็จแล้วเยอะๆ
ซึ่งหัวใจสำคัญของการตามรอยศาสตร์พระราชา คือ หัวใจที่พอเพียง พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็นได้ ไม่แข่งขัน ไม่เปรียบเทียบ เชื่อมั่นที่จะยืนได้ในพื้นที่ของตนเอง เมื่อปัญหาอะไรมาก็เอาอยู่ เพราะเรารอดแล้วในพื้นที่ของตน แถมยังแบ่งปันต่อคนอื่นได้อีกด้วย
ก้าวต่อไป คือมีอยู่ มีกิน มีศักดิ์ศรี ในผืนดินของตนเอง
เป้าหมายต่อไปของครูบาจ๊อก ที่มีต่อพื้นที่ อ.กัลยาณิวัฒนา คือการสร้างระบบป่าอย่างสมบูรณ์ เน้นให้ชาวบ้านมีที่ทำกิน บนพื้นที่ของตัวเอง “ไม่ต้องไปขุดทองไปหาความร่ำรวยในเมือง แต่มาขุดทองในพื้นที่ของตัวเองดีกว่า” ครูบาจ๊อกกล่าวถึงทอง ที่หมายถึงความสุข ความยั่งยืน มีกินมีใช้ตลอดไป และครูบาฝากไว้ 2 ข้อ ที่ต้องเปลี่ยน ถ้าอยากเริ่มศาสตร์พระราชา
1. เปลี่ยนวิธีคิด คือ การเริ่มจากความศรัทธาในแนวคิดที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มไว้ เชื่อมั่นว่าเป็นไปได้จริง จากการอ่านศึกษา และดูตัวอย่างจากพื้นที่ที่ประสบความเร็จแล้ว
2. เปลี่ยนวิธีทำ คือ ยอมรับและกล้าเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ทำอยู่ พร้อมลงมือศึกษาวิธีการต่างๆในศาสตร์พระราชาอย่างจริงจัง แล้วนำมาปรับใช้ให้ตรงกับปัญหา และพื้นที่ของตน ซึ่งในศาสตร์ของพระราชามีหลายวิธีการมาก เริ่มจากการถามผู้เชี่ยวชาญ
หัวใจที่พอเพียงตามศาสตร์พระราชา จะนำไปสู่ทางรอดที่แท้จริง มีกิน มีใช้ในพื้นที่ของตัวเอง และยังส่งผลให้โลกของเราน่าอยู่ ไร้ปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดจากมือของมนุษย์ เพราะเราเลือกที่จะอยู่กับธรรมชาติ ให้ธรรมชาติได้ดูแลเราตลอดไป