แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 25 วรรค 5 เขียนว่า คำร้องขอปล่อยชั่วคราวที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีอาญายื่นต่อศาล ต้องได้รับการพิจารณา และจะเรียกหลักประกันเกินควรมิได้
ส่วนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 106 เขียนว่า การปล่อยชั่วคราวไม่ต้องมีหลักประกันเลยก็ได้ หรือมีประกันอย่างเดียวไม่ต้องมีหลักประกันก็ได้
แต่ปัญหาคือ ผู้ถูกจับถูกตำรวจควบคุมตัวชั้นสอบสวนครบ 48 ชม.ถูกนำตัวมาฝากขังศาลเย็นวันศุกร์ต้องถูกขัง 3 คืนก่อนถึงวันจันทร์ หรือเรียกว่า “ติดเสาร์อาทิตย์”
กลายเป็นเรื่องสยองสำหรับผู้ถูกจับที่ไม่เคยกระทำผิดมาก่อน!
การฟ้องหรือแกล้งร้องทุกข์ให้ตำรวจจับเพื่อขัง “เสาร์อาทิตย์” กลายเป็นเรื่องต่อรองบีบผู้ถูกจับ!?
ปัจจุบัน นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา มอบนโยบายชัดเจนว่า วันหยุดเสาร์อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่ใช่เหตุที่ศาลจะไม่รับคำร้องขอปล่อยชั่วคราว
ดังนั้น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ที่มีคดีค้างพิจารณา ต้องมีเวรคอยสั่งประกันทุกวัน
เขียนไม่ผิดหรอกครับ ประชาชนยื่นขอประกันได้ทุกวันจริงๆ เดือน ม.ค.63 ยื่นมาแล้ว 900 เรื่อง ปล่อยตัว 800 เรื่อง เดือน ก.พ.ที่ผ่านมายอดพอกัน
วิธีเขียนคำร้องแค่ใบเดียว ไม่ต้องมีคำร้องอื่นประกัน หรือหนังสือรับรอง หรือเสนอราคาหลักทรัพย์อะไร ยื่นศาลพิจารณาวันเดียวจบ รู้ผลปล่อยตัวที่เรือนจำวันเดียวกัน
ใครไม่มีเงินให้ทำแบบประเมินความเสี่ยง ศาลจะซักถาม ถ้าโอเคมีความเสี่ยงจะหลบหนีน้อยก็ปล่อยตัวเลย มาใส่เหลสข้อมือ ใส่กำไลข้อเท้าที่มีจีพีเอสติดตามการเคลื่อนไหว ออกมาใช้ชีวิตปกติ ตราบใดที่ไม่ทำผิดเงื่อนไขศาล
...
ประธานศาลฎีกายังขยายโอกาสเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ และเรื่องความสะดวกรวดเร็วคือ คำร้องใบเดียวที่ได้ยินกันมานาน แต่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ไม่รู้?!
สั่งการให้ นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกา เรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผู้ต้องหาหรือจำเลย ออกไปให้ความรู้ถึงเรือนจำเกือบทั่วประเทศ
เริ่มใช้แล้ว 10 ศาลนำร่อง และจะขยายให้ครบ 280 ศาลทั่วประเทศเร็วๆ นี้
ส่วนคดีชั้นศาลอุทธรณ์และฎีกา ถ้าจำเลยมีหลักประกันไม่พอ ศาลชั้นต้นสามารถปล่อยชั่วคราวก่อนได้
ไอ้เรื่องที่พูดว่า คุกมีไว้ขังคนจน จะไม่มีอีกต่อไป?
สหบาท