ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่แผลงฤทธิ์สำแดงเดช พ่นพิษฟุ้งกระจายปกคลุมในกรุงเทพฯและปริมณฑล สูงเกินมาตรฐานเกือบทุกพื้นที่ ทำให้คุณภาพอากาศปานกลางเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นไอเสียรถยนต์ของการจราจรติดขัดหนาแน่น ทำให้ฝุ่นละอองเกิดการสะสม
และในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ลักษณะท้องฟ้ามืดครึ้มเต็มไปด้วยควันพิษอ่วมไม่แพ้กัน จากการเผาพืชไร่การเกษตรกรรม สามารถมองเห็นชัดเจนตามท้องถนนและเขตชุมชน กำลังคุกคามกระทบต่อสุขภาพประชาชนเช่นกัน
“รัฐบาล”...ต่างออกมาตรการมากมาย ตั้งแต่การสั่งปิดโรงเรียน ฉีดพ่นน้ำในอากาศ หรือเพิ่มความเข้มงวดตรวจวัดดักจับควันดำรถยนต์ ในมาตรการทั้งหมดนี้ดูเหมือนกำลังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ปลายเหตุเท่านั้น
ทั้งที่รู้เต็มอกว่า...“ปัญหามลพิษนี้มีต้นเหตุ” คือ การเผาพืชไร่การเกษตร และการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นของรถบรรทุก กลายเป็นปัญหาวังวนที่เกิดขึ้นประจำฤดูแล้งของทุกปีไปแล้ว...
สภาพอากาศมีผลทำให้ฝุ่นพิษยังคงอยู่นี้ รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนามหานคร ม.นวมินทราธิราช อดีตกรรมการควบคุมมลพิษ ให้ข้อมูลว่า ในช่วงนี้กรุงเทพฯและปริมณฑล มีฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงเกินมาตรฐาน ตั้งแต่ปลายปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คาดว่าสถานการณ์จะยาวถึงกลางเดือน มี.ค.นี้
...
ตามที่ตรวจวัดมีค่าสูงเกินมาตรฐานสูงสุด 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หรือดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) AQI ประมาณ 200
สำหรับภาคเหนือและภาคอีสาน ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีค่าสูงเกินมาตรฐาน ตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะยาวจนสิ้นเดือน เม.ย.นี้ มีค่าสูงเกินมาตรฐานสูงสุด 150 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หรือดัชนีคุณภาพอากาศ AQI ประมาณ 300 มีผลจากการได้รับควันไฟป่า และการเผาพืชไร่การเกษตรโดยตรง
หากเปรียบเทียบในปี 2561...สถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีความใกล้เคียงกัน ที่เริ่มมีฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในเดือน ม.ค.2562 ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ แต่สถานการณ์ของปี 2562...กลับมีฝุ่นพิษมาเร็วกว่า คือ ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2562 ทำให้สภาพอากาศท้องฟ้ามืดครึ้มเต็มไปด้วยฝุ่นพิษยาวนาน ส่งผลกระทบต่อประชาชนรุนแรงกว่าเดิม
โชคดี...ที่สภาพมลพิษทางอากาศมีลักษณะขึ้นลง ในบางครั้งฝุ่นก็มากขึ้น และบางครั้งฝุ่นก็น้อยลง แต่ฝุ่นพิษน้อยลงนี้ก็ไม่เกี่ยวกับมาตรการ...กรณี “นายกรัฐมนตรี” ประกาศคาดโทษพื้นที่ใดควบคุมฝุ่นพิษไม่ได้ ต้องปลดผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ฝุ่นพิษน้อยนี้มาจากเรื่องกระแสลมเข้ามาช่วยพัดให้ฝุ่นกระจายตัวมากกว่า...
ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกิดขึ้นมาราวปี 2553 ตอนนั้นประชาชนก็เริ่มมีความรู้สึกถึงการเปลี่ยนของสภาพอากาศกันแล้ว แต่ในช่วงปี 2561 สถานการณ์มีความรุนแรงมาก ทำให้มีการศึกษารายงานการจัดการฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เสนอต่อกรมควบคุมมลพิษ...
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา...ในช่วงนี้ฤดูหนาวของทุกปี สภาพอากาศท้องฟ้า จะมีลักษณะขมุกขมัวมืดครึ้มเลวร้ายน่ากลัวมา 3 ปีแล้ว เพราะสภาพอากาศมี “หมอก” และ “ฝุ่น” ผสมผสานกันอยู่ และในช่วงเวลา 11.00 น. อากาศอุ่นร้อนขึ้น “หมอก” ก็จะจางหายไปที่คงเหลือเฉพาะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เท่านั้น
ซึ่งปัจจัยสำคัญของปริมาณฝุ่นพิษนี้จะมีมากหรือน้อยนั้น คือ ความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนนเป็นหลัก ในช่วงเช้า...ตั้งแต่เวลา 06.00-09.00 น. แต่ช่วงเย็น...มักมีความหนาแน่นของการจราจร ประกอบมีสภาพอากาศสงบนิ่งไม่มีกระแสลม ตั้งแต่เวลา 16.00-21.00 น. ส่งผลให้สภาพอากาศย่ำแย่ที่สุด...
กระทั่งมีการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถตรวจวัดคุณภาพอากาศควบคุมทั่วถึงทุกพื้นที่ 63 สถานีทั่วประเทศ ในส่วนของกรุงเทพฯและปริมณฑล กำลังดำเนินการติดตั้งให้ครบ 50 เขต ในปีงบประมาณนี้ ทำให้มีข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพอากาศรวดเร็วมากกว่าอดีต
มีการนำข้อมูลเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลฯ ทั้งข่าวลวง ข่าวหลอก ข่าวปลอม หรือข่าวเป็นจริง ส่งผลให้ประชาชนมีแหล่งค้นคว้าหาข้อมูลมากขึ้น นำมาวิเคราะห์สิ่งนั้น คือ “หมอก” หรือ “ฝุ่นพิษ” ทำให้มีความตระหนักถึงภัยอันตรายที่เกิดจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในผลกระทบเชิงลบจากมลพิษทางอากาศมากขึ้นนี้
...
จริงๆแล้ว...เรื่องฝุ่นนี้ในปี 2522 เริ่มศึกษาฝุ่นละอองรวม หรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 100 ไมครอน เพราะให้ความสำคัญกับฝุ่นดิน ทราย การก่อสร้าง และฝุ่นถนน จนปี 2547 ปรับปรุงมาตรฐานฝุ่นพีเอ็ม 10 จากไอเสียรถยนต์ดีเซล การเผาไหม้ต่างๆ ที่มีการเจือปนฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ร้อยละ 90 ทำให้ในปี 2553 ต้องปรับมาตรฐานฝุ่นพีเอ็ม 2.5
เพราะมีหลักฐานทางสุขภาพอนามัยชี้ว่า...ฝุ่นขนาดเล็กสามารถถูกหายใจเข้าไปถึงระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง และถุงลมปอด ทำให้ฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีผลกระทบที่รุนแรงกว่าฝุ่นขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาล...ต่างให้ความสำคัญทุ่มงบประมาณในการป้องกันมากขึ้นตามมา...
สาเหตุหลัก...เกิดมาจากยอดจำนวนรถยนต์เพิ่มมากขึ้นปีละประมาณ 1 ล้านคัน หากนับจากปี 2553 มาถึงปัจจุบันก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น 10 ล้านคัน ซึ่ง “รัฐบาล”...ก็มีมาตรการควบคุมแก้ไขกันมาตลอด ถ้าไม่ดำเนินการควบคุมป้องกันอะไรเลย อาจทำให้สถานการณ์แย่รุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้หลายเท่าก็ได้
มีการกำหนดลักษณะคุณภาพเชื้อเพลิงที่เหมาะสมกับการใช้งานของเครื่องยนต์ เพื่อเป็นการควบคุมการระบายมลพิษ โดยเฉพาะฝุ่นละอองควันดำ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีประกาศในปี 2536 2539 2542 และ 2547 กำหนดปริมาณกำมะถันไม่เกินร้อยละ 0.5 0.25 0.05 และ 0.035
...
ในการลดกำมะถันในน้ำมันดีเซล จะทำให้รถยนต์ปล่อยไอเสีย มีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลดลง แต่ประเด็นที่สำคัญ...คือ “การลดกำมะถัน” ต้องทำควบคู่ไปกับการประกาศใช้มาตรฐานรถยนต์ ยูโร 1 ยูโร 2 ยูโร 3 ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 10 ลดลง 14.4 มคก./ลบ.ม. หรือร้อยละ 18.3
จนมาถึงปี 2556 มีการศึกษาปรับปรุงมาตรฐานรถยนต์ และคุณภาพน้ำมันดีเซล ยูโร 4 ลดกำมะถันในน้ำมันเบนซิน 500 ส่วนในล้านส่วน ไม่เกิน 50 ส่วนในล้านส่วน ทำให้ลดมลพิษไอเสีย คือ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ร้อยละ 28 ก๊าซไฮโดรคาร์บอนร้อยละ 38 ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนร้อยละ 26 สารเบนซีนร้อยละ 71
ลดมลพิษสู่บรรยากาศ ทั้งก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ลดลง 32,650 ตันต่อปี ก๊าซไฮโดรคาร์บอน 11,892 ตันต่อปี ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน 7,188 ตันต่อปี สารเบนซีน 1,548 ตันต่อปี
อีกทั้งมีการปรับลดกำมะถันในน้ำมันดีเซลจาก 350 ส่วนในล้านส่วน ให้เหลือไม่เกิน 50 ส่วนในล้านส่วน ส่งผลให้ลดมลพิษออกสู่บรรยากาศ คือ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ลดลง 26,194 ตันต่อปี ก๊าซไฮโดรคาร์บอนลดลง 5,854 ตันต่อปี ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนลดลง 4,446 ตันต่อปี และฝุ่นละออง ลดลง 1,732 ตันต่อปี
ประเด็นสำคัญ...สามารถลดระดับฝุ่นละอองในบรรยากาศ 4.05 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ลดผลกระทบทางด้านสุขภาพอนามัย
...
คิดเป็นมูลค่า 22,680–56,700 ล้านบาท จากอัตราการตายก่อนวัยอันควร 284–810 รายต่อปี ผู้ป่วยรายใหม่โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง 1,215–3,767 รายต่อปี
การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ และหลอดเลือดหัวใจลดลง 227-636 รายต่อปี ลดวันที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจรุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติ 1,174,500- 3,685,500 รายต่อปี ลดวันที่มีอาการระบบทางเดินหายใจเล็กน้อย 8,910,000-29,970,000 รายต่อปี
ทว่า...มาตรการปรับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงกลับไม่เดินหน้า ทำให้ไม่สอดคล้องกับรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ต้องปรับจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 ยูโร 6 ใช้กับรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ยูโร 6 จะลดกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิง 50 ส่วนในล้านส่วนเหลือ 10 ส่วนในล้านส่วน ที่ลดระดับพีเอ็ม 2.5 ประมาณ 4 พันตันต่อปี ใน 8-9 ปี ลดเหลือประมาณ 1 พันตันต่อปี
เพราะผลกระทบของมลพิษอากาศต่อสุขภาพของประชาชน อันเป็นรากฐานที่สำคัญของกระบวนการจัดการคุณภาพอากาศ...ในการขับเคลื่อนพลิกวิกฤติมลพิษ เพื่อปกป้องสุขภาพของคนทั้งชาติ.