หลายสิบปีก่อน...สมัยรัฐบุรุษคนสำคัญดำรงตำแหน่งเสนาบดีคลองหลอด ลงไปตรวจเยี่ยมเกาะสมุย ขณะสถานการณ์ท่องเที่ยวเริ่มเดินตามรอยภูเก็ต ส่วนเกาะช้างยังนิ่งสงบในที

วันที่บุคคลสำคัญไปถึง หลังรับฟังบรรยายสรุปข้อมูลแล้ว เสนาบดีถามทันที...

“สมุยมีรายได้ท่องเที่ยว แล้วชาวเกาะเจ้าของพื้นที่ล่ะ...ได้อะไร?”

คนถูกถามกระอักกระอ่วนที่จะตอบ กลายเป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์และจอโทรทัศน์ ในยุคไร้สื่อออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม โดยไม่มีใครรู้ชะตากรรมนายคนนั้นอีกเลย?

เรื่องรายได้ท่องเที่ยวกับผู้คนในพื้นที่ พลโท เฉลิมชัย จารุวัสตร์ (ยศขณะนั้น) อดีต ผอ.องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) คนแรก เคยกล่าวไว้ว่า...

“นโยบายหลัก 1 ใน 7 ข้อการส่งเสริมท่องเที่ยว ก็คือความต้องการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น จากค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยว ถามว่ากระจายยังไง... ให้มองผัดไทย 1 จานที่นักท่องเที่ยวกิน ในนั้นจะประกอบด้วยเส้นก๋วยเตี๋ยวจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีคนทำงานรับค่าจ้างอยู่มากมาย

...

นอกจากนี้ มีไข่จากไก่ในฟาร์ม ผักจากแปลงเกษตรที่เกษตรกรฟูมฟักกระทั่งส่งขาย เพื่อได้เงินมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเป็นทุนการศึกษาแก่ลูกหลาน”

นี่คือ...ตรรกะการกระจายรายได้ท่องเที่ยว แบบสรุปง่ายๆแต่เห็นภาพ!

ทำนองเดียวกัน...เมื่อรัฐบาลประกาศจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) จ.ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา ก็ต้องจิ้มเอา “พัทยา” ซึ่งมีปัจจัยรับท่องเที่ยวขึ้นมาเป็น “ฮับ” ศูนย์กลางการท่องเที่ยวสู่อนาคต จากการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกรอรับนักลงทุนไทยและต่างชาติ

รวมถึง “ทัวริสต์” ที่จะมาหว่านเม็ดเงินไว้ให้ ก่อนไหลไปถึงมือ “คนรากหญ้า”

เรื่องนี้...ปิ่นนาถ เจริญผล ผอ.ททท. สำนักงานพัทยา ได้เขียนแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ไว้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เมื่อ 1 ต.ค.2560 ภายใต้โครงการชื่อ “To Bleisure”

ที่หวังดึงคนกลุ่มต่างๆมาเที่ยวพัทยา ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวนับ 100 แห่ง หรือมาจัดกิจกรรมนันทนาการ ประชุมสัมมนา จากนั้นทำจิตอาสาสร้างปะการังเทียมริมฝั่งให้สัตว์น้ำอาศัย เก็บขยะชายหาดหรือใต้ทะเล

ซึ่งหากมีคนตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป ก็จะได้รับเลี้ยงอาหารหัวละ 280 บาทให้ 1 มื้อ ในร้านอาหารดัง อาทิ ปูเป็น สุดทางรัก ศรีนวล สวนนงนุชพัทยา และไทธานี

น่าสนใจว่า “ปีนั้น...ภาพรวมพัทยามีนักท่องเที่ยว 18.21 ล้านคน เป็นกลุ่ม To Bleisure 4,000 คน พอปี 2562 เพิ่มเป็น 5,302 คน”

ปิ่นนาถ บอกอีกว่า...ปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่ ต.ค.2562 ได้นวัตกรรมโครงการใหม่เป็น “More Bleisure” ในวาระครบ 60 ปีท่องเที่ยวไทย

โดยหวังเจาะกลุ่มหนุ่มสาววัยทำงานประเภท “No Mad”... ชอบพกพาเครื่องคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย แล้วใช้พัทยาเป็นห้องทำงานแห่งที่ 2 สามารถติดต่อหน่วยงานต้นสังกัดผ่านโลกไซเบอร์ได้

ส่วนสินค้าเสนอขายเพิ่มเติม เลือกชูแหล่งท่องเที่ยว “วิถีชุมชน” ได้แก่ ชุมชนชาวจีนโบราณอายุกว่า 100 ปี ที่บ้านชากแง้ว อ.บางละมุง ซึ่งเก็บรักษาบ้านเรือนไม้แบบดั้งเดิมไว้

พร้อมเปิดตลาดทุกเย็นวันเสาร์เพื่อขายอาหารจีนพื้นบ้านแก่นักท่องเที่ยว

...

อีกแห่งคือบ้านบางเสร่ อ.สัตหีบ ถิ่นที่ชาวประมงเก่าถูกโจรสลัดบุกปล้นเรือ แล้วกวาดต้อนผู้คนมาทิ้งไว้ยังบริเวณชายหาดแห่งนี้ จนกลายเป็นถิ่นทำกินด้านประมงถาวรไปในที่สุด

สุดท้ายก็คือ...“ชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย” อ.บางละมุง ห่างพัทยา 11 กิโลเมตร

วันดี ประกอบธรรม ลูกหลานชาวสวนมะพร้าว ในฐานะประธานศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ เล่าว่า...

ชุมชนนี้ใช้ชีวิตอยู่คู่สวนมะพร้าวมานาน เพื่อขายผลผลิตดำรงชีพกันต่อๆมา

จนเมื่อพัทยาเติบโตติดลมบนด้านท่องเที่ยว ชุมชนก็น่าจะมีส่วนได้รับอานิสงส์จากรายได้ท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริมด้วย

ปี 2548 จึงเริ่มเปิดศูนย์เรียนรู้ก่อน ด้วยการนำเด็กๆกับชาวบ้านมาศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร.9 พร้อมฝึกทำอาหารถิ่นคือแกงป่าไก่ใส่ผิวกะลามะพร้าวอ่อนซึ่งเป็นวัตถุดิบคู่ชุมชน

แล้วก็สอนการทำขนมโบราณ กับนำสมุนไพรมาเป็นวัสดุใช้นวดแผนไทย กระทั่งในปี 2555 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ถึงจัดตั้งชุมชนเป็นชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตะเคียนเตี้ย

...

นอกจากนี้ ยังพัฒนาบ้าน 100 เสา ขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำถิ่น โดยชักชวนสมาชิกวิสาหกิจชุมชนมาร่วมงาน และก่อตั้งกลุ่ม “คนรักษ์มะพร้าว” พัฒนาสวนที่มีอยู่ 7 แห่ง 8,000 ไร่ พร้อมชวนคนมาปั่นจักรยานท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขณะขี่ชมสวน

อีกกิจกรรมทำ DIY ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ผลิตน้ำมันมะพร้าว ชิมกาแฟมะพร้าวใส่หัวกะทิไร้ครีม ศึกษาการเพาะเลี้ยง “แตนเบียน” แมลงกำจัดหนอนมะพร้าว และทำปุ๋ยหมักชีวภาพ

...มีการเปิดโอกาสให้ฝึกทำของเล่นจากก้านและใบมะพร้าว ผลิตกระเป๋าลายดอกไม้ใช้แทนถุงพลาสติก กับทดลองสร้าง “พวงมโหตร” ประดับบ้านเรือน

อีกกิจกรรมสำคัญที่น่าสนใจคือ “การนวดตัว” ด้วยอุปกรณ์ “กัวซา” ทำจากเขาควายตามตำราจีน ให้ช่วยบรรเทาความปวดเมื่อยได้แบบฟิน! ฟิน!

วันดี รับว่า...นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คือคนไทย 90% ต่างชาติ 10% ชุมชนรับมือได้วันละ 100 คน ด้วยข้อจำกัดทั้งจากเรื่องห้องน้ำกับบุคลากรรองรับที่มีเพียงกรรมการ 12 คน สมาชิกอีก 10 คนเท่านั้น

...

หากจะเคาะตัวเลขกระจายรายได้ พบว่า “เมื่อปี 2561 มีคนมาเที่ยว 5,200 คน ทำรายได้ให้ท้องถิ่น 1.18 ล้านบาท ปี 2562 สูงถึง 10,000 คน หนุนรายได้ 1.8 ถึง 2 ล้านบาท”

ส่วน “รายได้” ที่กระจายสู่สมาชิก “ชุมชน” อยู่ที่คนละ 300 บาทต่อวัน เฉลี่ยแล้วจะได้คนละ 4,000 บาทเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้...

ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วยว่า มี...มากน้อยแค่ไหน?

ถึงตรงนี้ให้พึงรู้กันว่า “ท่องเที่ยววิถีชุมชน”...ไม่ใช่การออก “แคมเปญโฆษณา” หรือจัดซุ้มให้ขายสินค้า แต่ไม่มีคนซื้อ ททท.พัทยา ทำถูกแล้วที่ใช้ “More Bleisure” ต่อจาก “To Bleisure” เป็นเครื่องมือดึงคนสู่ชุมชน

เดินมาถูกทางแล้ว วันนี้...“ประเทศไทย” มีชุมชน 75,032 แห่งทั่วประเทศ และหากได้รับการส่งเสริมเหมือนพัทยา นั่นแหละ...

คือหนทางฟูมฟักให้พวกเขาลืมตาอ้าปากได้ มากกว่ารอนโยบายรัฐ “ประชานิยม” แจกเงินพร่ำเพรื่อ อย่างน้อยๆก็ฝ่าวิกฤติท่องเที่ยวไทยซบเซา...ช่วง “ไวรัสอู่ฮั่น” ระบาดหนัก.