“อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ปลูกขนุนกันแทบทุกตำบล แต่ ต.หนองเหียง ปลูกกันมากที่สุดถึง 2,234 ไร่ เกือบทั้งหมดเป็นพันธุ์ทองประเสริฐ เพราะเป็นที่นิยมของตลาด ด้วยอากาศค่อนข้างดี ดินมีธาตุอาหารเหมาะสมกับขนุนพันธุ์นี้ ทำให้ได้ขนุนผลใหญ่ 10-25 กก. เปลือกบางสีเขียวมรกต ต่างจากที่อื่นที่เปลือกออกสีน้ำตาล เนื้อสีเหลืองทอง หอมไม่แรงเกินไป เนื้อหนา กรอบ ไม่หวานมาก เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนชาวบ้านเรียกกันติดปากขนุนหนองเหียง”

สมจิตร พรมมะเสน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ขนุนตำบลหนองเหียง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เล่าถึงที่มาของขนุนหนองเหียง อีกหนึ่งของดีเมืองชลบุรี... เมื่อปลูกกันมาก หนีไม่พ้นเรื่องราคาตก ประกอบกับไม่มีที่ขายเป็นของตัวเอง ต้องขนขนุนไปขายตลาดใหญ่ จ.ระยอง เสียทั้งค่าขนส่ง แถมได้ราคาไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ปี 2552 จึงเกิดการรวมตัวกัน เปิดเป็นจุดรวบรวมและคัดแยกขนุนขายเองในพื้นที่ กลายเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ สาธิตการผลิตขนุนส่งออก และปี 2561 จึงได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนฯ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง (สสก.3)

...

หลังการรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ นอกจากจะได้ความช่วยเหลือหลายๆ ด้านจากภาครัฐ ยังได้องค์ความรู้ต่างๆ ทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิตให้ได้คุณภาพส่งออก การแปรรูปผลผลิต การหาตลาด รวมทั้งการบริหารจัดการตามระบบ GAP

ช่วยลดต้นทุน 20% จากไร่ละ 9,840 บาท เหลือ 7,872 บาท โดยเฉพาะการหันมาใช้ปุ๋ยสั่งตัด การใช้ปุ๋ยขี้ไก่ปรับปรุงโครงสร้างดินร่วมกับใช้ปุ๋ยเคมีระหว่างการปลูก สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 20% จากไร่ละ 3,800 กก. เป็น 4,200 กก.

ด้านการตลาด...รับซื้อผลผลิตจากสมาชิก ส่งไปจีน 80% โดยเฉพาะผลผลิตเกรดเอ หนัก 10 กก.ขึ้นไป ความแก่ประมาณ 80% ผลกลม สีสวย ไม่บิดเบี้ยวไร้โรคแมลง ได้ราคา กก.ละ 35 บาท

ส่วนขนุนอ่อน ส่งขายภาคเหนือและโรงงานทำขนุนกระป๋อง...ขนุนตกเกรดจะขายตลาดในประเทศเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นขนุนผลสดพร้อมแกะรับประทาน ขนุนเชื่อมอบแห้ง ขนุนลอยแก้ว แยมขนุน

นอกจากนั้นขนุนทุกส่วนจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งหมด...เปลือกทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ขายเป็นอาหารวัวอาหารปลา ส่วนเม็ดขนุนกลุ่มแม่บ้านนำไปต้มขาย อีกส่วนนำไปปั่นทำแป้งเม็ดขนุน

“สิ่งที่เปลี่ยนไปชัดเจนหลังได้รับการพัฒนาและส่งเสริมในด้านต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เราทำงานแบบมีระเบียบแบบแผนขึ้น มีการบริหารจัดการแบ่งฝ่ายแบ่งหน้าที่รับผิดชอบการทำงานชัดเจน โดยแต่ละกลุ่มทำงานเชื่อมโยงเครือข่ายซึ่งกันและกัน มีการบริหารจัดการร่วมกันตั้งแต่การผลิตจนถึงการแปรรูปและการตลาด มีการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ คือ ไม่ลงทุนเกินความสามารถของตนเอง ทำการเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รู้จักพอประมาณ ทำการผลิตตามความต้องการของตลาด และผลิตพืชตามหลัก GAP”

...

ด้วยเอกลักษณ์ที่มีเฉพาะที่ ไม่น่าเกินปีนี้ ขนุนหนองเหียงจะกลายเป็นผลไม้จีไอ หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี.

กรวัฒน์ วีนิล