วิกฤติภัยแล้งแม่น้ำยมแห้งขอดเป็นทางยาวอยู่ในระดับสีแดง เกษตรกรเดือดร้อนพืชผลเสียหาย และสัตว์เลี้ยงขาดน้ำกิน ส่วนแม่นํ้าวังทองแห้งเป็นแอ่ง ชาวบ้านนำกระสอบทรายทำฝายกั้นน้ำใช้ ด้านหน่วยงานภาครัฐเร่งขุดบ่อบาดาล 3,000 บ่อ และเร่งผลักดันน้ำเค็มหนุนสูง ส่วนปัญหาหมอกควัน ภาคเหนือวิกฤติสีแดง 4 จุด ขณะที่ กทม.ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 2 เขต

สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง แหล่งต้นน้ำไม่ไหลผ่านส่งผลให้แม่น้ำหลายสายแห้งขอด ส่งผลกระทบเกษตรกรไม่มีน้ำไปเลี้ยงพืชผลและสัตว์เลี้ยง ขณะที่ หน่วยงานภาครัฐเร่งลงพื้นที่ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ชาวสวนลำไยร้องขอความช่วยเหลือ

ชาวสวนลำไยในพื้นที่ ต.สันติสุข ต.ยางคราม ต.ดอยหล่อ และ ต.สองแคว อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ นำรถบรรทุกถังน้ำไปตักน้ำจากแม่น้ำปิงกว่า 300 คัน ขนไปเติมในอ่างเก็บน้ำโป่งจ้อ หลังจากท่อส่งน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำชำรุดมานานกว่า 10 ปี น้ำไม่ไหลเข้า อ่างเก็บน้ำฯ ส่งผลให้ชาวสวนเดือดร้อน ไม่มีน้ำไปรดสวนลำไย พร้อมกับรวมตัวกันที่ว่าการอำเภอดอยหล่อ เรียกร้องให้กรมชลประทานและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ

...

แม่น้ำยมแห้งระยะทาง 127 กม.

จ.พิจิตร สถานการณ์ภัยแล้งรวม 12 อำเภอ โดยเฉพาะแม่น้ำยมที่ไหลผ่าน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.บึงนาราง และ อ.โพทะเล ระยะทางรวม 127 กม. น้ำเหือดแห้งจนเดินข้ามได้ และไม่มีน้ำเพียงพอที่จะทำเกษตร ต่อมานายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วย รมว.เกษตรและสหกรณ์และคณะ ลงพื้นที่บ้านจระเข้ผอม หมู่ 1 ต.รังนก อ.สามง่าม พร้อมกับเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ชลประทานซ่อมแซมฝายยางกั้นน้ำแม่น้ำยม เพื่อกักเก็บน้ำให้เกษตรกรมีน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง

จากนั้นนายนราพัฒน์เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งรัดแก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมทั้ง เดินทางไปยังบึงสีไฟมีพื้นที่ 5,300 ไร่ ขุดลอกเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้เป็นแก้มลิงที่จะกักเก็บน้ำให้กับเกษตรกรในช่วงนี้

ส่วนที่ จ.สุโขทัย แม่น้ำยมตั้งแต่ด้านท้ายประตูระบายน้ำ บ้านหาดสะพานจันทร์ หมู่ 9 ต.ในเมือง อ.สวรรคโลก น้ำแห้งขอดหลายจุด เหลือแต่ น้ำที่ขังตามแอ่ง โดยเฉพาะบริเวณฝายยาง บ้านเกาะวงษ์เกียรติ์ ต.ทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง เป็นฝายยางที่ รับน้ำต่อมาจากทางฝายยางคลองกระจง อ.สวรรคโลก เพื่อที่จะส่งน้ำไปยังพื้นที่ตัวเมืองสุโขทัย ล่าสุดน้ำใน แม่น้ำยมแห้งขอดทั้งด้านหน้าและด้านหลังฝายยาง

วิกฤติแม่น้ำยมอยู่ในระดับสีแดง

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังติดตามการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ที่ประตูระบายน้ำบางแก้ว ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ว่า ปริมาณในแม่น้ำหลายสายอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง โดยเฉพาะแม่น้ำยมอยู่ในระดับสีแดง-น้ำน้อยเข้าขั้นวิกฤติ เนื่องจากปริมาณน้ำตอนบนจาก จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย ก่อนเข้า อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ลดลงตามลำดับ ประกอบกับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เหลือน้ำกักเก็บค่อนข้างน้อย จำเป็นต้องบริหารน้ำให้ถึงปลายเดือน พ.ค. เพื่อป้องกันภาวะฝนทิ้งช่วง วิกฤตินี้ใกล้เคียงกับปี 2558 แต่ยืนยันว่าน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคมี เพียงพออย่างแน่นอน แต่น้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะ นาปรังไม่มีน้ำให้การสนับสนุน ประกอบกับขณะนี้ น้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้การผลิตประปาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเกิดผลกระทบ ดังนั้น ขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด งดสูบน้ำเข้านาในระหว่างวันที่ 13-15 ม.ค. เพราะต้องระบายน้ำไปผลักดันน้ำเค็ม

แม่น้ำวังทองแห้งขอดเป็นแอ่ง

จ.พิษณุโลก แหล่งน้ำตามแม่น้ำ ลำคลองและหนองบึง เริ่มแห้งขอดลดปริมาณลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่หมู่ 8 บ้านวังน้ำใส ต.แม่ระกา อ.วังทอง ขณะนี้น้ำแห้งขอดขาดเป็นช่วงๆ เพราะไม่มีน้ำจากต้นน้ำไหลลงมาสมทบอีก เหลือเพียงน้ำขังอยู่ตามแอ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับที่โครงการประตูระบายน้ำอัดน้ำกลางคลอง แม่น้ำวังทอง สำนักชลประทานที่ 3 พิษณุโลก บ้านวังน้ำใส ต.แม่ระกา พบว่าขณะนี้ไม่มีการระบายน้ำผ่านประตูดังกล่าว เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอและแห้งขอด เจ้าหน้าที่ช่วยกันซ่อมแซมประตูระบายน้ำทั้ง 6 บาน เพื่อเปลี่ยนลวดสลิงใหม่ให้สามารถปิดกั้นประตูระบายน้ำเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น พร้อมทั้งนำกระสอบมากั้นทำเป็นฝายขนาดเล็ก เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ ไม่ให้ไหลไปตามลำคลองและแห้งขอดในที่สุด

อุตรดิตถ์ประกาศภัยแล้ง 7 อำเภอ

นายวรพจน์ วรพงษ์ ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ เปิดเผยว่า ขอชี้แจงข้อมูลแผนการระบายน้ำรายวัน ฤดูแล้งในปี 63 ข้อมูลอ้างอิงจากแผนการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน สำหรับสภาพน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ปริมาณน้ำพร้อมใช้งานเพียง 1,868.71 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28.06 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน มีแผนการระบายน้ำระหว่างวันที่ 13-19 ม.ค. วันละ 9.30 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และผลักดันน้ำเค็มจนถึงเดือน เม.ย.นี้ ส่วนปัญหาภัยแล้งของ จ.อุตรดิตถ์ ในขณะนี้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่เข้าข่ายประสบปัญหาภัยแล้ง ประกาศพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว 7 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.ตรอน อ.ท่าปลา อ.น้ำปาด อ.บ้านโคก อ.พิชัย และ อ.ฟากท่า

...

จูงวัวกินหญ้าที่ก้นอ่างเก็บน้ำ

จ.นครสวรรค์ เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในพื้นที่ ต. หนองยาว อ.ลาดยาว เปิดเผยว่า ประสบกับปัญหา ภัยแล้งยาวนาน แหล่งอาหาร และแหล่งน้ำที่เคยใช้เลี้ยงวัวหมดลงไปนานนับเดือน ล่าสุดชาวบ้านต้องต้อนฝูงวัวออกไปไกลหลายกิโลเมตร เพื่อให้วัวลงไปกินหญ้าสด และน้ำที่ขังอยู่ตามก้นอ่างเก็บน้ำที่เพิ่งแห้ง เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารเดียวที่ยังพอหลงเหลืออยู่ในบริเวณนี้ ช่วงเย็นจะต้อนวัวทั้งหมดกลับเข้าคอก และเลี้ยงด้วยน้ำประปาอีกครั้ง ทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น

เขื่อนลำแชะน้ำลดระดับต่อเนื่อง

นายสมศักดิ์ ทาบโลกา ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภายในเขื่อนลำแชะ ที่ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ว่า ปริมาณน้ำ ภายในเขื่อนลำแชะลดระดับเหลืออยู่ที่ 82 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุกักเก็บทั้งหมดที่ 275 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปริมาณน้ำเหลือใช้การได้จริงเพียง 75 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ของความจุ เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงที่สภาพอากาศแล้งจัด ไม่มีน้ำไหลลงสู่เขื่อน ประกอบกับเขื่อนจำเป็นต้องส่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 ชาวบ้านร้องขอเพื่อต้องการน้ำไปใช้ในระบบประปาหมู่บ้าน และท้องถิ่น

รัฐอนุมัติงบกลาง 3,000 ล้านบาท

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำคณะลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ที่สระน้ำบ้านหนองเสาเดี่ยวพัฒนา หมู่ 7 และสระน้ำหมู่ 10 ต.ท่าอ่าง อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ประสบภัยแล้ง สระน้ำแห้งขอดจนเห็นดินก้นสระ นายเทวัญกล่าวว่า รัฐบาลเตรียมให้การช่วยเหลือประชาชนหลายด้าน อาทิ จัดหารถแรงดันน้ำและขุดบ่อบาดาลเพิ่ม พร้อมอนุมัติงบประมาณกลางจำนวน 3,000 ล้านบาท และมอบให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ดำเนินการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนต่อไป

...

กรมชลฯแจ้งงดทำนาออกไปก่อน

นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า ในปีนี้ปริมาณน้ำปลายฤดูฝนมีไม่มากนัก มีน้ำอยู่ที่ 5,377 ล้าน ลบ.ม. หากเทียบกับปี 2558 มีน้ำอยู่เพียง 4,200 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำจะต้องดูแลอยู่ 3 กิจกรรม คือ เรื่องอุปโภค-บริโภค เรื่องของการรักษาระบบนิเวศในทุกพื้นที่ เรื่องของการสำรองน้ำไว้ในช่วงต้นฤดูฝนตั้งแต่เดือน พ.ค.- ก.ค. ดังนั้นในปี 2562-2563 ปริมาณน้ำมีอยู่เพียง 5,377 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนเจ้าพระยายังคงควบคุมการระบายน้ำตามแผนที่กำหนดไว้ ส่วนในเรื่องของภาคการเกษตร กรมชลประทานขอความร่วมมือกับเกษตรกรให้งดการทำนาออกไปก่อน ส่วนในเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรนั้น เป็นนโยบายหลักในภาพรวมของกรมส่งเสริมการเกษตร ส่วนกรมชลประทานจะช่วยเหลือ จ้างแรงงานให้กับเกษตรกรที่ไม่ได้ทำนา

เร่งขุดบ่อบาดาลบรรเทาภัยแล้ง

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วน เข้าไปช่วยเหลือประชาชนประสบภัยแล้ง สำนักงานน้ำบาดาลทั้ง 12 พื้นที่ทั่วประเทศ ประสานกับหน่วยงานราชการและเอกชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล วัด เข้าไปดำเนินการ ล้าง เป่า ทำความสะอาด บ่อบาดาลที่มีอยู่เดิม เพื่อให้ได้น้ำในปริมาณที่มากเพียงพอกับความต้องการของประชาชน รวมทั้งการเข้าไปขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มขึ้นตามคำร้องขอ ขณะนี้ดำเนินขุดบ่อบาดาลไปแล้ว 100 บ่อ สำหรับการขุดเจาะบ่อบาดาลทั่วประเทศ ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจำนวน 3,000 บ่อนั้นเป็นความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจำนวน 704 บ่อ ที่เหลือเป็นของหน่วยงานอื่น พื้นที่ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้าไปขุดเจาะ อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 400 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่า 200 แห่ง การดำเนินการทั้งหมดทำในพื้นที่สาธารณะ ประชาชนเข้ามาใช้บริการฟรี

...

สำรวจแบบ 3 มิติผลักดันน้ำเค็ม

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ผลการวัดค่าความเค็มของน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าสถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี เวลา 09.00 น. วันที่ 13 ม.ค. อยู่ที่ 0.16 กรัม/ลิตร ต่ำกว่าค่าเฝ้าระวังอยู่ที่ 0.25 กรัม/ลิตร เมื่อคืนวันที่ 12 ม.ค. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดของระลอกนี้ ถือว่าปฏิบัติการผลักดันน้ำเค็มเป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้ กรมชลประทานระบายน้ำจากหลายทาง มาสู่ด้านท้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้เร่งทำแผนที่สำรวจภูมิประเทศด้านวิศวกรรมแบบ 3 มิติของคลองพระยาบันลือ เนื่องจากเป็นคลองสำคัญที่รับน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมลุ่มเจ้าพระยา เพื่อผลักดันค่าความเค็มจะทำให้ทราบลักษณะท้องน้ำ และคำนวณความจุของคลองได้อย่างแม่นยำ เป็นนวัตกรรมที่นำมาใช้บริหารจัดการน้ำเค็มลุ่มเจ้าพระยาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

เชียงใหม่ประกาศงดเผาที่โล่ง

สำหรับสภาพหมอกควันปกคลุมไปทั่ว จ.เชียงใหม่ ผู้ใช้รถใช้ถนนต่างมีอาการแสบจมูกและตา นายคมสัน สุวรรณอัมพา รอง ผวจ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค.ของทุกปีชาวบ้านมักจะเผาป่าเป็นประจำ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ สร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นควัน และมลพิษทางอากาศ ขณะนี้ออกประกาศกำหนดเขตควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิด และมาตรการทางกฎหมายในการควบคุม กำหนดให้พื้นที่ทุกหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เป็นเขตควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.-30 เม.ย.นี้ ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย

ตากไฟไหม้ป่ากว่า 300 ไร่

จ.ตาก เกิดไฟไหม้ป่าในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท้อ อยู่ท้ายหมู่บ้านป่ามะม่วง ต.ป่ามะม่วง อ.เมืองตาก ขยายเป็นบริเวณกว้างกว่า 300 ไร่ เจ้าหน้าที่กู้ภัย อบจ.ตาก ชาวบ้าน และจิตอาสา อบต.ป่ามะม่วง ช่วยกันสกัดไฟ ด้านนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผวจ.ตาก เรียกประชุมคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันปัญหาหมอกควันและไฟป่า จ.ตาก มีมติสั่งห้ามงดเผาทุกชนิดในพื้นที่โล่งแจ้งตั้งแต่วันที่ 13 -27 ม.ค. เพื่อลดปัญหาการสะสมของมลพิษทางอากาศ ก่อนที่จะมีมาตรการห้ามเผาในช่วง 61 วัน ระหว่างวันที่ 1 มี.ค.-30 เม.ย.ในช่วงฤดูแล้ง ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย และตั้งค่าหัวรางวัลนำจับสำหรับผู้แจ้งเบาะแส

เหนืออ่วมวิกฤติสีแดง 4 จุด

กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จำนวน 50 สถานี ตรวจวัดค่าได้ 25-54 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม) ปริมาณฝุ่นละอองในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงเกือบทุกพื้นที่ สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาคเหนือ ค่าฝุ่นอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ วิกฤติสีแดง 4 พื้นที่ ประกอบด้วย ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง ต.บ้านดง ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และ ต. นาจักร อ.เมืองแพร่ ระดับสีส้มมี 6 พื้นที่เริ่มจาก ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ ต.บ้านกลาง อ.เมืองลำพูน ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันตก เกินมาตรฐานบริเวณ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ต.ปากเพรียว อ.เมืองสระบุรี ต.สนามชัย อ.เมืองสุพรรณบุรี ต.บ้านเหนือ อ.เมืองกาญจนบุรี และภาคตะวันออก ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

ฝนตกฝุ่นอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าวันที่ 12-18 ม.ค.นี้ ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุม และมีลมตะวันออกพัดปกคลุมบริเวณ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ทำให้มีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ ดังนั้น จากสภาวะฝุ่นตามสภาวะของอากาศ คาดว่าในช่วงสัปดาห์นี้จะอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง เนื่องจากยังพอมีลมตะวันออกกำลังปานกลางพัดอยู่ แต่จะมีบางวันที่อาจจะสูง ขึ้นอยู่กับกิจกรรมในพื้นที่

กทม.เกินมาตรฐาน 2 เขต

กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ ตรวจวัดค่า PM2.5 วัดได้ 31-54 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 2 พื้นที่ ได้แก่ เขตวังทองหลาง และเขตพระนคร ทั้งนี้ ดัชนีคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดของ กทม. ส่วนใหญ่อยู่ในระดับคุณภาพอากาศดีปานกลาง

เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ

ด้านนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. กล่าวว่า สำนักการแพทย์ กทม. เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ดำเนินการวินิจฉัย และให้การรักษาที่ถูกต้อง จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีฝุ่นละออง PM 2.5 เกิน 75 มคก./ลบ.ม. เกิน 3 วัน ขณะนี้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. เปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศ เพื่อให้คำปรึกษาและนำไปสู่การรักษาพยาบาลดังนี้ 1.รพ.ตากสิน (จันทร์-อังคาร เวลา 13.00-15.30 น.) 2.รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ (พุธ เวลา 13.00-15.30 น.) และ 3.รพ.กลาง (พฤหัสบดี เวลา 13.00-15.30 น.) จากรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละอองของโรงพยาบาลในสังกัด ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.62 ถึง 9 ม.ค.63 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวน 38,803 ราย

“ประวิตร” สั่งใช้กฎหมายลดฝุ่น

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในหลายพื้นที่ และ กทม. เริ่มคลี่คลายหลังจากฝนตก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ย้ำขอให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ ร่วมแก้ปัญหาค่ามาตรฐานฝุ่นละอองกันอย่างจริงจัง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการคงเข้มมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ควบคุมต้นเหตุจากการเกิดฝุ่นละอองจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง รวมทั้งการเผา และกิจการที่ก่อให้เกิดควัน ขณะเดียวกัน ขอให้ทุกส่วนราชการพิจารณาตรวจสอบยานพาหนะในสังกัด และลดการใช้ยานพาหนะราชการในพื้นที่วิกฤติ ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึก และขอความร่วมมือประชาชนกับมาตรการของรัฐให้มากขึ้น