เริ่มต้นปี 2563 ผ่านพ้นไม่กี่วัน คนไทยหลายพื้นที่ต่างต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำ ที่มีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปี และยังคงต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งนี้กันอย่างใกล้ชิด เพราะมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อยอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปลายปี 2562...

หากย้อนมาสำรวจอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่อยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มี 9 แห่ง คือ ภาคเหนือ...เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีน้ำ 75 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 29% น้ำใช้ได้ 61 ล้าน ลบ.ม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ...เขื่อนจุฬาภรณ์ มีน้ำ 45 ล้าน ลบ.ม.ร้อยละ 27% ใช้ได้ 8 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์ 485 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 20% ใช้ได้ 96 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำพระเพลิง 22 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 14% ใช้ได้ 21 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำนางรอง 23 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 19% ใช้ได้ 19 ล้าน ลบ.ม.

ภาคกลาง...เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 220 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 23% ใช้ได้ 217 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนทับเสลา 36 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 23% ใช้ได้ 19 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนกระเสียว 61 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 20% ใช้ได้ 21 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนคลองสียัด 107 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 26% ใช้ได้ 77 ล้าน ลบ.ม.

สะท้อนถึงอ่างเก็บน้ำนี้...เสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ของภาคเกษตรกรรม ครัวเรือน อุตสาหกรรม ที่ปริมาณน้ำกำลังเหือดแห้งลงอย่างช้าๆ ส่งสัญญาณว่า...หากยังไม่ใช้น้ำกันอย่างประหยัด อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนเกิดปัญหาการแย่งน้ำตามมา...

ทำให้การบริหารจัดการน้ำ มีความสำคัญกับการแก้วิกฤติเหตุการณ์เฉพาะหน้า เพื่อประคองให้อยู่รอดไปจนถึงเดือน พ.ค.ที่จะเข้าสู่หน้าฝนอย่างเต็มตัว มีน้ำเข้ามาเติมในเขื่อนเพิ่มขึ้นอีก

ภาวะน้ำแล้งนี้เกิดอะไรขึ้น และควรคิดอย่างไรต่อไป รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ในเรื่องของ “ทำไม...เกิดภัยแล้ง” มีสาเหตุจากฝนน้อย ในปี 2561-2562 ประเทศไทยเผชิญ 2 ปรากฏการณ์ใหญ่ซ้อนกันอยู่ คือ...

...

ปรากฏการณ์ที่หนึ่ง...อิทธิพลของ “เอลนินโญ” ต่อเนื่องต่อไปถึงปี 2563 ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบในประเทศแถบเอเชีย ใกล้มหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย ทำให้มีปริมาณฝนตกลงมาน้อย

ปรากฏการณ์ที่สอง...มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของมหาสมุทรอินเดีย ที่เรียกว่า IOD (Indian Ocean Dipole) คือ ดัชนีวัดค่าความผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเล ที่เกิดจากความเย็นตัวผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลทางตอนใต้ ด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย หรืออันดามันประเทศไทย

และมีการอุ่นขึ้นผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเล ด้านตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย ที่เรียกว่าปรากฏการณ์ IOD ขั้วบวก ส่งผลให้ฝนตกน้อยแห้งแล้ง มีโอกาสกลับมามีสถานะเป็นกลาง ในช่วงปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบน มีปริมาณฝนรวมลดลง ส่วนภาคใต้ มีปริมาณฝนรวมเพิ่มมากขึ้น

สาเหตุการเกิด 2 ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ซ้อนกันอยู่นั้น มีผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)...ทำให้ต้องเผชิญกับสภาวะความรุนแรงของภาวะภัยแล้ง และน้ำท่วม ทวีความรุนแรง ที่มีความถี่การเกิดบ่อยครั้งขึ้นมากกว่าอดีต...

ปัญหาสำคัญมีต่อว่า...เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถคาดการณ์ได้เช่นเดิม แต่ในการบริหารจัดการน้ำกลับยังจำเป็นต้องใช้แผนเดิม
ที่เคยดำเนินการกันมา จากการใช้ข้อมูลฐานเดิมในอดีตมาเทียบเคียง ส่งผลให้ในระหว่างช่วงปี 2561-2562 มีการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำตามปกติ เพื่อรองรับน้ำฝนใหม่

แต่ในปีนั้น...สภาพฝนผิดปกติ มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยร้อยละ 20 หรือฝนตกทั่วประเทศลดลงเหลือเฉลี่ย 1,100 มม.ต่อปี จากเดิมที่เคยมีฝนตกเฉลี่ยราว 1,300 มม.ต่อปี กลายเป็นว่า...สถานการณ์สวนทางกับแผนการบริหารจัดการน้ำ ไม่สามารถเก็บน้ำได้ตามกำหนด จนตอนนี้มีน้ำเหลือใช้ร้อยละ 30-40 ความจุอ่างเก็บน้ำ...

ซ้ำร้าย...มีการศึกษาต่ออีกว่า ในปี 2563 “สภาพฝน” อาจมาช้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลปกติ ในเดือน พ.ค. แต่จะเริ่มมีฝนตกในช่วงตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย. ส่งผลให้ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนหลักลดลง จนต้องมีมาตรการลดปริมาณการปล่อยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร รวมถึงภาคอุปโภค บริโภคของประชาชนด้วย...

“ทำให้ต้องมีการรับมือกันล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน เพราะนับจากนี้ไปฝนจะตกช้ากว่าปกติ 1-2 เดือน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มเผชิญกับสภาวะแล้งหนัก...แล้งนาน ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ” รศ.ดร.สุจริตว่า

ประเด็นต่อมา...ในเรื่อง “ขาดแคลนน้ำ” หมายถึง “ไม่มีน้ำพอใช้” ในเชิงปริมาณต้องมุ่งเป้ามาที่ “ภาคกลาง”...แม้ว่ามีปริมาณฝนตกเยอะ มีอ่างเก็บน้ำมาก มีการเก็บน้ำฝนได้ถึงร้อยละ 40 แต่ก็มีการใช้น้ำมากเช่นกัน ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคครัวเรือน ทำให้เกิดสภาพขาดแคลนน้ำขึ้น

ในส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ...ก็มีการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ที่มีการเพาะปลูก...เพราะมีฝนน้อยกว่าปกติค่าเฉลี่ยของทั่วประเทศ และมีพื้นที่เก็บน้ำน้อย ทำให้เก็บน้ำได้เพียงร้อยละ 10 ส่วนภาคเหนือและภาคใต้ ไม่ใช่ว่าไม่ขาดแคลนน้ำ แต่มีพื้นที่เก็บน้ำเยอะ มีการกระจายน้ำได้ทั่วถึง...
ลดความเดือดร้อนได้ดีกว่าภาคอื่น

ทว่า...ในการใช้น้ำภาพรวมของทั่วประเทศ คือ ภาคการเกษตร 60% ภาคอุตสาหกรรม 10% ภาคครัวเรือนในเมือง 20% สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ 10% ทำให้มีการศึกษาวิจัยเรื่อง “การใช้น้ำซ้ำหมุนเวียน” ด้วยการนำน้ำภาคครัวเรือนเขตเมืองมารีไซเคิลปรับคุณภาพ ไปแจกให้ภาคอุตสาหกรรม นำกลับไปรีไซเคิล ส่งให้ภาคการเกษตร...

...

ยกตัวอย่าง...ประเทศสิงคโปร์ จากประเทศขาดแคลนนํ้าสู่ผู้นำระดับโลก ด้านการบริหารจัดการนํ้า เพราะไม่มีแหล่งนํ้าดิบ ต้องพัฒนานำนํ้าใช้แล้วทิ้งมาบำบัดใหม่จนมีความสะอาดสามารถดื่มได้ด้วยซํ้า

จริงๆ แล้ว...ไม่มีวิธีใดสามารถสู้กับภัยธรรมชาติได้ แม้แต่โครงการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 8 มาตรการก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาปลายเหตุ เพราะที่ผ่านมามีการใช้น้ำแบบปีต่อปี ในลักษณะยืมน้ำของปีถัดไปมาใช้ล่วงหน้าด้วยซ้ำ ทำให้สถานการณ์น้ำติดลบ กลายเป็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทุกปี

ขอย้ำว่า...หากภัยแล้งนี้ติดต่อกันเกินกว่า 3 ปี อาจต้องเข้าสู่วิกฤติ...ที่คงเหลือเฉพาะน้ำอุปโภค บริโภค เท่านั้น มีผลถึงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำตามมาด้วย...

ตามหลักแก้ปัญหาต้องลดการใช้น้ำลง เพื่อให้มีน้ำสำรองไว้ตลอดเวลา ทั้งน้ำสำรองของประเทศ น้ำสำรองภาคครัวเรือน และน้ำสำรองโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต เสมือนหันย้อนยุคกลับไปสมัยอดีตที่มีการนำ “โอ่งน้ำ” มากักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งกันทุกครัวเรือน สามารถอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 100 วัน

แต่ปัจจุบันโอ่งน้ำนี้กลับหายไป เพราะเกิดปัญหาเรื่องยุงลาย ที่ไม่ปิดฝาโอ่งจนทุบโอ่งน้ำทิ้งกัน วันนี้อาจปัดฝุ่นโครงการ...แจกโอ่งให้ชาวบ้าน ในการดูแลตัวเอง รวมถึงต้องมีการขุดสระน้ำในทุ่งนา ใช้ในการเกษตรของตัวเองด้วย หากหวังน้ำในเขื่อน หรือน้ำชลประทาน ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมากแล้ว...

หันมาดูในเรื่องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มาช่วยกักเก็บน้ำช่วงฤดูแล้งนี้ก็คงเป็นไปได้ยากเช่นกัน เพราะสาเหตุหลักคือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ เมื่อสร้างเขื่อน...ไม่มีน้ำก็ไร้ประโยชน์ และการสร้างเขื่อนไม่ใช่เรื่องง่าย ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ที่ยังไม่นับรวมการคัดค้าน ไม่รู้ว่าเขื่อนจะเกิดขึ้นหรือไม่

...

ไม่ใช่ว่า...“เขื่อน” ไม่สามารถช่วยได้ แต่อาจช่วยได้บางพื้นที่...บางส่วนเท่านั้น ดังนั้น ทุกคนควรช่วยเหลือตัวเองกันก่อน ด้วยการปรับเปลี่ยนอาชีพ ใช้น้ำอย่างมีคุณค่าที่สุด มีรัฐบาลส่งเสริมที่ไม่ใช่จ่ายเงินชดเชยก็จบ แต่ต้องนำเงินนี้ไปใช้กับการเกษตรอื่นให้มีรายได้งอกเงย เพราะตอนนี้การปลูกข้าวใช้น้ำมากนี้ไม่ใช่คำตอบที่ดีเสมอไปแล้ว

“ยุคนี้การส่งออกข้าวต้องคิดให้มาก เพราะมีประเทศคู่แข่งทางการค้าส่งออกมากขึ้น ทั้งประเทศเวียดนามและประเทศพม่าที่กำลังยกระดับเทียบเคียงการส่งออกข้าวเท่ากับประเทศไทย ทำให้ข้าวที่จะส่งออกนั้นต้องมีคุณภาพดีจริง ทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น และเสี่ยงต่อการขาดทุนมาก”

ในทางออกของวิถีการสู้ “ภัยแล้งดี” ที่สุดคือ อย่าฝืนกับ “ภัยธรรมชาติ” แต่ควรต้องปรับตัวสอดคล้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้...