(ภาพ : พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี เพื่อรำลึกถึงพระมหาวีรกรรมของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงทำยุทธหัตถีชนะ พระมหาอุปราชา กู้แผนดินไทยเป็นเอกราชจากพม่า.)


“ไม่มีวันนั้น ฤาจะมีวันนี้” ด้วยพระมหาวีรกรรมอันทรงคุณค่ายิ่งต่อลูกหลานไทยของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เมื่อเช้าวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ.2135 หรือเมื่อ 428 ปีที่ผ่านมา

ณ บริเวณ พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ในปัจจุบัน วันนั้น “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ทรงเครื่องพิชัยยุทธ ทรงช้างนามว่า “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” ขณะที่ “สมเด็จพระเอกาทศรถ” ทรงช้างนามว่า “เจ้าพระยาปราบไตรจักร”

ช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้หรือเคยผ่านสงครามชนช้าง ชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว และเป็นช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบครั้งกระนั้น จึงวิ่งไล่ตามทหารพม่าและหลงเข้าไปในแดนพม่า

สมเด็จพระนเรศวร ทอดพระเนตรเห็น พระมหาอุปราชา ทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าท้าวพระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว

แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของ สมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยความคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า

“พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้กระทำยุทธหัตถีอีกแล้ว”

พระมหาอุปราชา ได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอ เข้าชน เจ้าพระยาไชยานุภาพ จนเสียหลัก พระมหาอุปราชา ทรงฟัน สมเด็จพระนเรศวร ด้วยพระแสงของ้าว แต่ สมเด็จพระนเรศวร ทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด

...

ขบวนกองทัพไทยออกศึกทั้งช้าง ม้า และกำลังพล ท่ามกลางแสง สี เสียงตระการตา ในการแสดงยุทธหัตถี ภายในงาน “อนุสรณ์ดอนเจดีย์”.
ขบวนกองทัพไทยออกศึกทั้งช้าง ม้า และกำลังพล ท่ามกลางแสง สี เสียงตระการตา ในการแสดงยุทธหัตถี ภายในงาน “อนุสรณ์ดอนเจดีย์”.

จากนั้น เจ้าพระยาไชยานุภาพ ชน พลายพัทธกอ เสียหลัก สมเด็จพระนเรศวร ทรงฟันด้วยพระแสงของ้าว ถูก พระมหาอุปราชา เข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง

อีกด้านหนึ่ง สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงฟันเจ้าเมืองจาปะโรเสียชีวิตเช่นกัน ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่ สมเด็จพระนเรศวร ได้รับบาดเจ็บ

ทันใดนั้น ทัพหลวงไทย ตามมาช่วยทัน จึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร ขณะที่พม่ายกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลายาวนาน

ฉากการแสดงยุทธหัตถี ระหว่าง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับ พระมหาอุปราชา เป็นไฮไลต์ของการแสดงแสง สี เสียง ยุทธหัตถี ที่ชาวไทยรอชมทุกปี.
ฉากการแสดงยุทธหัตถี ระหว่าง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับ พระมหาอุปราชา เป็นไฮไลต์ของการแสดงแสง สี เสียง ยุทธหัตถี ที่ชาวไทยรอชมทุกปี.

“สงครามยุทธหัตถี” ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้ประเทศไทย เป็นไท มาตราบเท่าทุกวันนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในกาลครั้งนั้น เป็นสิ่งที่ชาวไทยทั้งหลาย ทั้งมวล รวมถึงชนรุ่นหลัง จะต้องจดจำถึงพระมหาวีรกรรมกันเอาไว้ตราบนานเท่านาน

กว่า 100 ปีที่ผ่านมา ชาว จ.สุพรรณบุรี ได้เป็นตัวแทนของผองไทยทั้งชาติจัดงาน “อนุสรณ์ดอนเจดีย์” เพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่านมาอย่างต่อเนื่อง

...

สำหรับในปี 2563 นี้ งานจะเริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 18 มกราคม ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ รวมงาน 15 วัน 15 คืน ณ พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี

นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผวจ.สุพรรณบุรี เป็นประธานบวงสรวง พระบรมรูป สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก่อนจัดงาน “อนุสรณ์ดอนเจดีย์” ทุกปี.
นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผวจ.สุพรรณบุรี เป็นประธานบวงสรวง พระบรมรูป สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก่อนจัดงาน “อนุสรณ์ดอนเจดีย์” ทุกปี.

นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ พ่อเมืองสุพรรณบุรี ยืนยันมาว่า ปีนี้ได้มีการพัฒนาทุกด้านให้บังเกิดยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา เพื่อให้ชาวไทยได้ซึมซับบรรยากาศในการร่วมกันรำลึกถึง “องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” กันตลอดไป

...

ด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ และนิทรรศการต่างๆมากมาย โดยเฉพาะไฮไลต์ ของงาน ได้แก่การแสดงแสง สี เสียง “สงครามยุทธหัตถี” ณ สถานที่จริงแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งจะมีการนำเอาช้างจริง ม้าจริง แสดงร่วมกับนักแสดงกว่าพันคน

สำหรับรอบการแสดงมีดังนี้ วันที่ 17 ม.ค.ซ้อมใหญ่ สำหรับรอบจริงมีการแสดงรวม 10 รอบ ในวันที่ 18-19-20-24-25-26-29-30-31 มกราคม และวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ทุกวันเริ่มแสดงเวลา 19.30 น.

ภาพบรรยากาศงาน “อนุสรณ์ดอนเจดีย์” บริเวณลาน พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ เมื่อปีที่ผ่านมา ประชาชนไปร่วมงานกันเนืองแน่น.
ภาพบรรยากาศงาน “อนุสรณ์ดอนเจดีย์” บริเวณลาน พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ เมื่อปีที่ผ่านมา ประชาชนไปร่วมงานกันเนืองแน่น.

...

เตรียมตัวกันไว้ให้พร้อม พี่น้องผองไทย เราทั้งหลายทั้งมวลจะได้รวมพลังกันไปกราบสักการะ “พระองค์ดำ” เพื่อหวนรำลึกถึงอดีต และเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี สถานที่จัดงาน “เทศกาลตรุษจีนสุพรรณบุรี” ซึ่งปีนี้จัดควบคู่กับงาน “อนุสรณ์ดอนเจดีย์” ต่อเนื่องกัน.
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี สถานที่จัดงาน “เทศกาลตรุษจีนสุพรรณบุรี” ซึ่งปีนี้จัดควบคู่กับงาน “อนุสรณ์ดอนเจดีย์” ต่อเนื่องกัน.

นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2563 ที่อุทยานมังกรสวรรค์ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ยังมีงาน เทศกาลตรุษจีนสุพรรณบุรี “มหัศจรรย์ 12 ปี มังกรสวรรค์” ควบคู่กันไปอีกด้วย

ศาลเจ้ามังกรทอง สุพรรณบุรี นักท่องเที่ยวไปกราบไหว้เทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รับเทศกาลตรุษจีนเป็นประจำ.
ศาลเจ้ามังกรทอง สุพรรณบุรี นักท่องเที่ยวไปกราบไหว้เทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รับเทศกาลตรุษจีนเป็นประจำ.
มังกรทอง สัญลักษณ์โดดเด่นของ จ.สุพรรณบุรี อีกแห่ง ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวชมและถ่ายภาพกัน.
มังกรทอง สัญลักษณ์โดดเด่นของ จ.สุพรรณบุรี อีกแห่ง ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวชมและถ่ายภาพกัน.

โดยจะมีการแสดงของลูกหลานพันธุ์มังกร อาทิ งิ้วเปลี่ยนหน้ากาก กวนอิมพันมือ สิงโตปีนเสาดอกเหมย มังกร 9 เซียน เอ็งกอบู๊ กังฟู กลองศึก ศิลปวัฒนธรรมจีน อุโมงค์ไฟโคมจีน สวนแสงสีสันสวรรค์เมืองสุพรรณ

สุพรรณบุรี เที่ยวได้ทั้งปี มีดีทุกเดือน.

เด่นชัย เด่นชัยประดิษฐ์