ปัจจุบันหลายหน่วยงานได้หันไปให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเอกชนที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้
หนึ่งในนั้นก็คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส (AIS) ค่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ ที่สินค้าเมื่อใช้แล้วจะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับสินค้าประเภทเดียวกัน
เอไอเอส ได้เดินหน้าภารกิจสำคัญในการร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมของคนไทย ด้วยภารกิจ “Mission Green 2020” อาสาเป็นแกนกลางในการกำจัด “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” (E-Waste) อย่างถูกวิธีและยั่งยืน
ตั้งเป้าลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 1 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์ (kgCO2e) พร้อมทั้งปรับปรุงการใช้ทรัพยากรในการดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้คุ้มค่าและไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
...
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส กล่าวว่า ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่นอกจากจะมุ่งมั่น นำเทคโนโลยีมาสร้างประโยชน์ให้แก่คนไทยทุกเจเนอเรชันอย่างยั่งยืนแล้ว
“เรายังให้ความสำคัญกับแนวทางในการดำเนินธุรกิจแบบเติบโตไปพร้อมกันทุกภาคส่วน (Stakeholder) โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นทรัพย์สมบัติของชาติที่ทุกคนต้องร่วมกันหวงแหนและรักษาไว้” นายสมชัย กล่าว
เริ่มจากภายใน องค์กรเอไอเอส เลือกที่จะใช้พลังงานสะอาดจากธรรมชาติมาผสมผสานในการบริหารจัดการเครือข่าย โดยมุ่งเสาะแสวงหาโซลูชันใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ
เช่น การเลือกใช้ พลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลม ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนหมุนเวียนมาใช้แทนถ่านหินซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป (พลังงานสิ้นเปลือง) รวมไปถึงการพยายามควบคุมและลดการใช้ไฟฟ้าในการปฏิบัติงานต่างๆลง
นอกจากนั้นยังมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมและการตระหนักรู้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้กับพนักงานภายในองค์กร ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการ Bag for Sharing ที่นำแผ่นไวนิลโฆษณาที่ไม่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการทำความสะอาดและตัดเย็บขึ้นรูปเป็นกระเป๋าผ้า ไว้ให้บริการพนักงานสำหรับนำไปใช้ระหว่างวัน
...
เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมไปถึงการรณรงค์ให้พนักงานคัดแยกขยะในออฟฟิศเพื่อไม่ให้ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ในส่วนของจุดบริการลูกค้า “เอไอเอสช็อป” และ “เซเรเนดคลับ” ทุกสาขา ได้เปลี่ยนขวดน้ำ หลอดและแก้ว จากเดิมเป็นพลาสติก เป็นวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ชานอ้อยหรือไม้
รวมถึงเปลี่ยนไปใช้ถุงพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากพืช ซึ่งได้รับเครื่องหมายรับรอง GC Compostable บ่งบอกถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถสลายตัวได้ตามธรรมชาติ
เอไอเอส ยังได้สานต่อภารกิจ “ถ้าเราทุกคน คือเครือข่าย” ปลูกจิตสำนึกคนไทย โดยรับอาสาเป็นแกนกลางในการ รับทิ้ง “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” (E-Waste) ไปกำจัดอย่างถูกวิธี
...
อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถนำโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่มือถือ เพาเวอร์แบงก์ สายชาร์จ หูฟังที่ไม่ใช้แล้ว มาทิ้งได้ที่ถังขยะ E-Waste ที่เอไอเอสช็อปทั่วประเทศและศูนย์การค้าของ CPN
พร้อมทั้งสร้างการตระหนักรู้กับพนักงาน โดยการตั้งจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไว้ที่สำนักงานใหญ่ทุกภูมิภาค และยังได้จัดกิจกรรมใหญ่
...
“กรีน พหลโยธิน” เครือข่ายรณรงค์รับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ E-Waste จากหน่วยงานและประชาชนตลอดเส้นถนนพหลโยธิน
สร้างโมเดลต้นแบบเมืองสีเขียว สามารถคัดแยกและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ E-Waste ได้อย่างถูกวิธี
“ในปีนี้เอไอเอสได้ประกาศภารกิจยิ่งใหญ่ “Mission Green 2020” ที่มีเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) รวมกว่า 1 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์ (kgCO2e) ให้ได้ภายในสิ้นปี 2020 ผมจึงขอใช้โอกาสเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคมที่ผ่านมา เชิญชวนคนไทยร่วมกันดูแลโลกของเรา...
โดยการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่มือถือ เพาเวอร์แบงก์ สายชาร์จ และหูฟังมาทิ้งในถังรับ E-Waste ที่เราได้จัดเตรียมไว้ และเราจะนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป” นายสมชัยกล่าว
ทั้งหมดนี้คือหน้าที่และความรับผิดชอบของภาคเอกชนที่มีต่อประเทศชาติบ้านเมือง ในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรักษาโลกใบนี้ไว้.
ทีมข่าวภูมิภาค