“ทำไมไทยถึงเสียแชมป์การประกวดข้าวต่อเนื่องถึง 3 ปี ถ้าส่องให้ลึกจะพบว่า เป็นเพราะการพัฒนาพันธุ์ข้าวไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด”

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวในงาน “ประชุมเวทีข้าวไทยปี 2562 การปรับตัวของชาวนาไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” จัดโดย มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์...เพื่อทำให้อาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน และชาวนามีขีดความสามารถในการแข่งขัน จำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ทั้งสภาวะแวดล้อม พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง

“เราเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่ไม่มีการคิดวิจัยในเรื่องนวัตกรรมข้าวอย่างจริงจังหากยังต้องการแข่งขันผลิตข้าว ไทยต้องเป็นผู้นำให้ได้ทั้งในเรื่องนวัตกรรม การเพิ่มมูลค่า ทั้งๆที่ข้าวสร้างมูลค่าให้ประเทศแต่ละปีนับหมื่นล้าน แต่กลับมีงบวิจัยเรื่องข้าว 0.17% คิดเป็นเงินแค่ 230 ล้านบาท จึงทำให้ทุกวันนี้เรายังต้องขายข้าวเป็นกระสอบ

...

ส่วนนวัตกรรมที่มีอยู่มากมายในช่วง 10 ปี แทบไม่ได้ส่งเสริมและนำมาใช้ประดิษฐ์เชิงพาณิชย์เพียงน้อยนิด ไม่มีสินค้าข้าวที่เกิดจากนวัตกรรมใหม่ๆมาส่งเสริมให้แปรรูปเชิงพาณิชย์ ไม่มีกองทุน ไม่มีพี่เลี้ยงสนับสนุนที่ชัดเจน และแทบไม่มีนวัตกรรมจากชุมชนที่สามารถส่งข้าวไปขายในตลาดโลก”

ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้เรายังคงวิจัยพันธุ์ข้าวแบบเดิมๆ ปรับพันธุ์ใหม่ตามใจผู้บริโภคคนไทย จึงทำให้เราชวดแชมป์ข้าวเรื่อยๆ ร่วงหล่นจากแชมป์มาเป็นปีที่ 3 นั่นเป็นเพราะว่าไม่มีการวิจัย พัฒนาข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาดผู้บริโภค

มีการรับรองพันธุ์ข้าวใหม่เรื่อยๆ แต่กลับไม่มีการศึกษาตลาดอย่างชัดเจน ไม่ศึกษาพฤติกรรมผู้ซื้อ

“หากต้องการครองตลาดข้าว ต้องสร้างพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับตลาด ตรงกับพฤติกรรมคนกิน ถึงจะขายข้าวได้นาน อย่างตลาดสหรัฐอเมริกา พันธุ์ข้าวต้องแปรรูปทำเป็นแท่งสแน็กได้ ตลาดญี่ปุ่นต้องการข้าวที่มีความเหนียวใช้ตะเกียบคีบง่าย ตลาดอินเดียต้องการข้าวร่วนซุยใช้มือหยิบแล้วข้าวไม่ติดมือ ข้าวแต่ละพันธุ์ที่ออกมาแทบไม่มีการคิด มุ่งตรงเจาะตลาดเฉพาะในเรื่องเหล่านี้เลย”

กลับไปมุ่งส่งเสริมเครื่องมือเพิ่มความสะดวก หาเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ ทำให้ชาวนาลดน้อยลง แรงงานเริ่มหาย การมุ่งเน้นเทคโนโลยีมากจนเกินไป เลยทำให้เกิดการทำลายตัวเอง.

เพ็ญพิชญา เตียว