“ปกติฤดูหนาวของประเทศไทยมาจากความกดอากาศสูงกำลังแรงจากจีนแผ่ลงมา ทำให้อากาศบ้านเราเย็นลง แต่ปีนี้มีพายุคัมมูริเป็นปัจจัยเสริม เหนี่ยวนำให้มวลอากาศเย็นไหลลงมายังประเทศไทยได้ลึกขึ้น ทำให้อากาศเย็นแผ่ลงมาได้แทบทุกพื้นที่ ซึ่งไม่ได้เห็นบ่อยนัก เพราะปกติช่วงนี้พายุมักเกิดในแนวต่ำ แถบอินโดนีเซีย เพื่อเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ แต่ครั้งนี้พายุเกิดในแนวสูงขึ้นแถบฟิลิปปินส์ ถือเป็นสัญญาณส่วนหนึ่งของสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้ปัจจุบันคาดการณ์อะไรได้ยากขึ้น”

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. อธิบายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น...เมื่ออากาศเย็นลงมา ความชื้นในอากาศลดลง อากาศแห้ง น้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ จะมีอัตราการระเหยสูงขึ้น ประกอบกับในช่วงอากาศหนาวที่ผ่านมา กระแสลมหนาวมีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยตอนบนไม่มีฝนตก และกระแสลมนี้ได้ผลักแนวฝนของภาคใต้ให้ต่ำลงแถบชายแดนไทย-มาเลเซีย ขณะเดียวกันกระแสลมมรสุมตะวันออก เฉียงเหนือ หรือลมหนาวที่มีกำลังแรงได้ส่งผลให้คลื่นลมในอ่าวไทยกำลังแรง มีคลื่นสูง 2-3 เมตร ทำให้น้ำเค็มรุกเข้ามาในตัวแม่น้ำได้ลึกจากเดิมถึง 100 กม. ทำให้น้ำบางช่วงเค็มขึ้นถึง 3 เท่า จนต้องงดสูบน้ำมาทำน้ำประปา ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร

...

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ความกดอากาศสูงจะอ่อนกำลัง ไม่มีปัจจัยอย่างอื่นมาเสริม...สภาพภูมิอากาศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ

แต่ภาคใต้จะน่าเป็นห่วงที่สุดในขณะนี้

เพราะจากปัจจัยที่กล่าวมา ทั้งยังไม่เกิดพายุที่จะทำให้ร่องฝนเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ได้ และลมมรสุมหนาวได้ผลักแนวฝนไปทางมาเลเซีย ทำให้แทบไม่พบร่องฝนเลยในช่วงนี้

จากเดิมที่มักจะเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ กลายเป็นไปเกิดแถบ อ.สุไหงโก–ลก จ.นราธิวาส และประเทศมาเลเซีย

ขณะที่เขื่อนสำคัญในภาคใต้ อย่างเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี มีระดับน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 30% เขื่อนบางลาง จ.ยะลา ปริมาณน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10% ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วทั้งภาคใต้ อยู่ในสถานะไม่ได้ต่างกัน

โดยเฉพาะ จ.ภูเก็ต ดูจะน่าเป็นห่วงที่สุด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ แหล่งป้อนน้ำประปาสำคัญของจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งมีความจุ 7.2 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้เหลือแค่ 9% เท่านั้นเอง

หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ภาคใต้อาจเสี่ยงต่อสถานการณ์ภัยแล้งเกือบทั้งภาคเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้มีน้ำใช้อย่างจำกัด และช่วงหน้าร้อนอาจถึงขั้นต้องประกาศเตือนให้กักเก็บน้ำ

ส่วนภาคอื่นๆ ปัญหาแทบไม่ต่างกัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จากทั้งหมด 35 แห่ง มีอ่างเก็บกักน้ำได้ต่ำกว่า 30% มีด้วยกัน 9 แห่ง...เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 28%, เขื่อนลำพระเพลิง 16%, เขื่อนอุบลรัตน์ 21%, เขื่อนจุฬาภรณ์ 28%, เขื่อนลำนางรอง 20%, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 28%, เขื่อนทับเสลา 23%, เขื่อนกระเสียว 21%, เขื่อนคลองสียัด 28%

อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่เก็บน้ำได้ต่ำกว่า 30% ของความจุ มีอยู่ทั้งหมด 86 แห่ง...ภาคเหนือ 28 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 42 แห่ง ภาคตะวันออก 7 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง ภาคตะวันตก 1 แห่ง ภาคใต้ 1 แห่ง

ฉะนั้นปี 2563 เสี่ยงอย่างยิ่งที่จะแล้งทั้งประเทศ ยกเว้นพื้นที่แถบ จ.กาญจนบุรี เพราะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้มีฝนตกเติมน้ำในเขื่อนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี

...

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 ดร.สุทัศน์ วิเคราะห์...ช่วงครึ่งปีแรกของปีน้ำจะน้อย ฝนจะมาช้า แต่ในช่วงครึ่งปีหลังถ้ามีพายุเข้ามาเยอะ มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมได้

เหมือนปลายปี 2538 ที่เกิดอุทกภัยเป็นบริเวณกว้างทั่วทุกภาค 68 จังหวัด 585 อำเภอ มีผู้ได้รับความเดือดร้อน 1,163,871 ครอบครัว เสียชีวิต 260 คน จนถูกบันทึกไว้เป็นอุทกภัยที่มีความร้ายแรงมากที่สุดในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในรอบ 40 ปี (2499-2538)

ขณะที่ในช่วงต้นปี 2538 มีพื้นที่ประสบภัยแล้งใน 72 จังหวัด 717 อำเภอ 5,020 ตำบล 26,354 หมู่บ้าน มีผู้ได้รับความเดือดร้อน 2,661,678 คน พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายมากถึง 3 ล้านไร่... หนักกว่าภัยแล้งปี 2558–59 ที่มีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายแค่ 2 ล้านไร่

ฉะนั้นเพื่อรับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า นับแต่นี้เป็นต้นไปเกษตรกรต้องรู้จักบริหารจัดการ น้ำให้ดีต้องมีแหล่งน้ำของตัวเอง ใช้น้ำให้เป็น ใช้แต่พอดีให้คุ้มค่าที่สุด ปรับเปลี่ยนปลูกพืชใช้น้ำน้อย ให้ผลผลิตเร็ว.

กรวัฒน์ วีนิล