เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้สร้างโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ดขึ้น ทำให้เกิดอุตสาหกรรมมูลค่าสูงต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้รายได้ของประชากรไทยเพิ่มมากขึ้น สภาพความเป็นอยู่โดยรวมของคนไทยก็ดีขึ้นกว่าเดิมจากการพัฒนาครั้งนี้ แต่ในระยะหลังการเพิ่มขึ้นของรายได้เริ่มช้าลงจนแทบจะไม่มีการขยับตัว รัฐบาลจึงได้วางแนวทางเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยขึ้นใหม่อีกครั้งด้วยการต่อยอดจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเดิม โดยกำหนดให้พื้นที่บริเวณภาคตะวันออกซึ่งครอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อใช้ผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมในอนาคต โดยการพัฒนาครั้งนี้มีอุตสาหกรรมด้านหุ่นยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่

ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) มองว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ จึงมีแนวโน้มว่าจะมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในสายการผลิตมากขึ้น ซึ่งหุ่นยนต์จะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยอย่างมากโดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการผลิตตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้บุคลากรด้านหุ่นยนต์จะเป็นที่ต้องการอย่างมากภายใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ เพื่อรองรับอาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ พีไอเอ็ม จึงได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขึ้น ตลอดระยะเวลา 4 ปีภายใต้หลักสูตรนี้ นักศึกษาจะไม่ได้เรียนแค่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเรียนสลับกับการทำงานด้านหุ่นยนต์เพื่อให้เกิดประสบการณ์จริง ในปัจจุบันพีไอเอ็มได้ร่วมมือกับบริษัทหุ่นยนต์ชั้นนำต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการ การฝึกปฏิบัติงานด้านหุ่นยนต์จะเริ่มขึ้นเมื่อนักศึกษาขึ้นชั้นปีที่ 2 โดยนักศึกษาต้องเข้าไปประจำกับบริษัทที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งภายใต้รูปแบบการเรียนรู้นี้จะมีพี่เลี้ยงจากบริษัทคอยดูแล และอาจารย์ประจำหลักสูตรจะเข้าไปตรวจเยี่ยมนักศึกษาตลอดระยะเวลาฝึกปฏิบัติงาน หลังจากการฝึกปฏิบัติงานสิ้นสุดลง จะมีการสัมมนาแบ่งปันประสบการณ์ที่ตนเองได้รับตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาให้กับเพื่อนๆ รุ่นน้อง พี่เลี้ยง และคณาจารย์ได้รับทราบ ที่ผ่านมาบรรยากาศการนำเสนอมักจะเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจเพราะนักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งคณาจารย์จะนำเอาประสบการณ์ส่วนนี้มาปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยในปี 2563 ที่จะมาถึงนี้ พีไอเอ็มได้มีแผนขยายวิทยาเขตไปยังเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อผลิตบุคลากรด้านหุ่นยนต์ให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศอีกด้วย

ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า “จากการสำรวจความต้องการบุคลากรทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พบว่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมจะมีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้สูงถึง 37,500 คน โดยปัจจุบันได้นำตัวเลขความต้องการเสนอกับทางรัฐบาลแล้ว และภาคการศึกษาต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ โดยสถาบันการศึกษาต้องทำความจับมือกับสถานประกอบการ หรือภาคอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดคุณสมบัติและคุณลักษณะนักศึกษาที่จบไปเป็นบัณฑิตพร้อมทำงานตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานและให้ได้มาตรฐานระดับสากล เช่น การออกแบบหลักสูตรร่วมกัน การทำวิจัยและการพัฒนา การฝึกอบรมบุคลากรและนักศึกษา ที่ผ่านมาไม่ได้มีความร่วมมือกันระหว่าง 2 ฝ่าย จึงทำให้เด็กตกงานเป็นจำนวนมาก และตลาดก็ขาดแรงงานที่ตรงสายเช่นกัน โดยบุคลากรทางด้านนี้จะเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศยุคใหม่ และจะเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับประเทศไทยให้พ้นภัยทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่”

ปัจจุบัน คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม เป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์ของเครือซีพีและพันธมิตรที่เต็มไปด้วยมืออาชีพและมีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้ โอกาสในการฝึกงานและดูงานอย่างกว้างขวางและหลากหลายกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตรที่มีมากที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฯ ของกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรในเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พีไอเอ็มเล็งเห็นโอกาสที่จะส่งเสริมบุคลากรด้านหุ่นยนต์เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจมากขึ้น จึงเร่งสร้างบัณฑิตที่พร้อมทำงานออกสู่สังคม ทั้งยังมีทุนการศึกษามอบให้นักเรียนมัธยมปลายที่สนใจหลากหลายทุน สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://www.pim.ac.th หรือ https://www.facebook.com/pimfanpage สอบถามได้ที่เบอร์ 02-855-0360