หลายจังหวัดจัดพิธีตักบาตรเที่ยงคืน โดยที่เชียงใหม่ ศิษยานุศิษย์ ครูบาน้อย เตชปัญโญ แห่ตักบาตรอาบน้ำมนต์เที่ยงคืน ท่ามกลางอากาศที่เย็นยะเยือก แต่ต้องตะลึงเพราะน้ำมนต์กลับอุ่นประหลาด ส่วนพะเยา ผู้คนก็มาร่วมงานที่วัดศรีอุโมงค์คำ ที่ จ.ประจวบ ก็จัดใหญ่หน้าอ่าวประจวบ มีพุทธศาสนิกชนหลายพันคนเติมเต็มความศรัทธา เชื่อขึ้นจากสะดือทะเลรับบาตรได้บุญแรงกล้า แห่งเดียวในประเทศตักบาตรหน้าทะเล


เมื่อเวลา 22.30 น.วันที่ 10 ธ.ค.62 ศิษย์ยานุศิษย์ครูบาน้อย เตชปัญโญ หรือพระครูสิริศิลสังวร เกจิอาจารย์ชื่อดัง และเจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล ตำบลชมพู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่หลายร้อยคนได้ไปร่วมพิธีตักบาตรวันเป็งปุ๊ด หรือประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน เป็นประเพณีของทางภาคเหนือ โดยก่อนพิธีจะเริ่มในเวลา เที่ยงคืนเข้าสู่วันพุธ ทางครูบาน้อย ได้จัดพิธีอาบน้ำมนต์ท่ามกลางแสงจันทร์ และอากาศที่หนาวเย็นยะเยือก แต่บรรดาลูกศิษย์กว่า 50 คนเข้าร่วมอาบน้ำมนต์คืนเป็งปุ๊ดเพราะนานทีจะมีสักครั้ง

โดยครูบาน้อย ได้ทำการสวดมนต์คาถาลงในอ่างน้ำมนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งลูกศิษย์บางคนทดลองใช้มือแช่น้ำก่อนทำพิธีก็พบว่าน้ำเย็นบางคนถึงกับถอดใจไม่อาบเพราะอากาศประมาณ 10กว่าองศา แต่หลังจากที่ครูบาน้อยสวดมนต์ทำน้ำมนต์จากนั้นก็ให้พระเณรช่วยกันใช้ขันน้ำตักสาดไปยังลูกศิษย์ จนเปียกกันทั่วหน้า แต่น้ำมนต์ครูบาน้อย กลับไม่เย็นและยังอุ่นประหลาดทำให้บางคนหันไปใช้มือจับให้แน่ใจพบว่าน้ำอุ่นจริงๆ และครูบาน้อยเปล่งเสียงสำทับขอให้ผู้ที่ผ่านการอาบน้ำมนต์เฮงๆๆรวยๆๆท่ามกลางเสียงสาธุดังลั่น

...

จากนั้นเมื่อเวลา 00.09 น.วันที่ 11 ธ.ค. ครูบาน้อย ได้นั่งรถบุศบกออกบิณฑบาตรโดยมีพระสงฆ์ 9 รูปร่วมบิณฑบาตเที่ยงคืนของวันเป็งปุ๊ดพร้อมพรมนำมนต์ให้กับผู้มาร่วมพิธีตักบาตรเที่ยงคืนจนอิ่มบุญตามๆกัน


ที่ จ. พะเยา เวลา 00.00 น. วันที่ 11 ธ.ค. พระครูวิจิตร กิจจานุกูล รองเจ้าอาวาส วัดศรีอุโมงค์คำ (วัดสูง)ต.เวียงอ.เมืองจ.พะเยาพร้อมคณะสงฆ์ และชาวพุทธศาสนิกชน ตำบลเวียงอำเภอเมืองจังหวัดพะเยา ได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรเที่ยงคืน หรือวันเป็งปุ๊ด ซึ่งตรงกับวันพุธขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ออก 15 ค่ำ คืนพระจันทร์เต็มดวง ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น จนพระภิกษุสงฆ์สามเณรต้องคลุมผ้าห่มสวมหมวกไหมพรหม เพื่อบรรเทาความหนาวเย็นของอากาศ ตอนเที่ยงคืน เช่นเดียวกับชาวพุทธศาสนิกชนต้องสวมใส่เสื้อกันหนาวและหมวกด้วยเช่นกันเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นในขณะที่ทำบุญใส่บาตรเป็งปุ๊ดหรือตักบาตรเที่ยงคืน

พระครูวิจิตร กิจจานุกูล รองเจ้าอาวาส วัดศรีอุโมงค์คำ (วัดสูง) กล่าวว่า การทำบุญ ตักบาตรเที่ยงคืน เดิมทีเป็นประเพณีของชาวพุทธศาสนาของประเทศพม่าที่มีความเชื่อสืบทอดกันมา ในถิ่นล้านนาตั้งแต่โบราณ จนถึงปัจจุบันโดยมีความเชื่อว่า การตักบาตรทำบุญแด่พระอุปคุต ซึ่งเป็นภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นองค์อุปัชฌาย์ เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เสด็จลงไปจำศีลภาวนาอยู่ ณ สะดือทะเล ในรอบ 1 ปี จะขึ้นมาโปรดชาวเมืองก่อนเวลารุ่งอรุณ ชาวบ้านมักตื่นแต่ดึก เพื่อเตรียมอาหารไว้ใส่บาตรพระอุปคุต โดยมีความเชื่อว่า หากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรพระอุปคุตแล้ว จะได้บุญ เกิดโชคลาภ และความเป็นสิริมงคลในชีวิต ทำให้ผู้คนทำบุญตักบาตรเที่ยงคืน


ส่วน จ.ประจวบฯ เวลา 00.01 น. ที่สะพานสราญวิถี ถนนเลียบชายทะเลอ่าวประจวบ หน้าวิหารพระอุปคุต อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ นายนรินทร์ ทรงนิพิฐกุล ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีตักบาตรเที่ยงคืนพระอุปคุต นายอานุภาพ พูลสวัสดิ์ ประธานกลุ่มเพ็ญพุธประจวบคีรีขันธ์ นายดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี พร้อมด้วย พุทธศาสนิกชนชาวไทยจากทั่วสารทิศกว่า 2,000 คน ชาวไทยเชื้อสายมอญกว่า 200 คน จากชุมชนชาวมอญ บ้าน กม.14 ต.อ่าวน้อย พร้อมใจกันตักบาตรเพ็ญพุธ หรือวันเป็งปุ๊ด เนื่องในวันเพ็ญพุธ หรือวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ซึ่งครั้งนี้คือคืนวันอังคารที่ 10 ย่างเข้าสู่วันพุธที่ 11 โดยพุทธศาสนิกชน นำข้าวสารอาหารแห้งตั้งแถวรับขบวนพระสงฆ์บิณฑบาต จากปลายสะพานสราญวิถีที่ยื่นออกไปในทะเล ผ่านด้านหน้าวิหารพระอุปคุต ถนนเลียบชายทะเลถึงหน้า อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 1 กิโลเมตร เป็นการจำลองเหตุการณ์พระอุปคุตขึ้นจากสะดือทะเลเพื่อมารับบิณฑบาตมนุษย์

...

ก่อนเริ่มขบวนพระอุปคุต หรือ พระบัวเข็ม ผู้ปราบพญามาร มีกิจกรรมสวดมนต์อุปปาตะสันติคาถา เจริญสมาธิ แผ่เมตตา การเทศนาเรื่องพระอุปคุต ซึ่งการตักบาตรเที่ยงคืนหน้าอ่าวประจวบ เป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่วิหารพระอุปคุตหันหน้าสู่ทะเลทางทิศตะวันออก และพุทธศาสนิกชนตักบาตรหน้าทะเลเสมือนรับพระอุปคุตขึ้นจากสะดือทะเล

จากนั้นขบวนพระภิกษุจำนวน 59 รูป รับบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้งจากพุทธศาสนิกชน เริ่มจากปลายสะพานสราญวิถี มีขบวนชาวไทยเชื้อสายมอญแบกเสรียง ด้านบนมีรูปหล่อพระอุปคุตโบราณ เป็นการจำลองการเดินทางของพระอุปคุตจากสะดือทะเล เพื่อออกมาบิณฑบาตในโลกมนุษย์ และมีความเชื่อว่าถ้าใครได้ใส่บาตรในวันเพ็ญพุธ จะได้รับอานิสงค์แรงกล้า ระหว่างทางมีประชาชนเข้าแถวเรียงรายจำนวนสองแถว ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงในการรับสิ่งของบิณฑบาตจนหมด สำหรับพุทธศาสนิกชนที่ร่วมตักบาตรในเวลาเที่ยงคืน ซึ่งถือเป็นชั่วโมงแรกของวันหรือเช้าแรก เชื่อว่าพระอุปคุตจะมาโปรดบุญ มีพุทธคุณในเรื่องการปราบมาร และการค้ารุ่งเรือง

...

สำหรับข้าวสารอาหารแห้งที่ได้จากการทำบุญทั้งหมด กลุ่มเพ็ญพุธจะนำไปรวบรวมแล้วจัดแบ่งเป็นชุดได้ประมาณ 500 ชุด มอบให้แก่ผู้ยากไร้ ผู้ป่วยติดเตียง ทั้ง 15 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์

สำหรับวันเป็งปุ๊ด หรือประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่เข้าใจว่าทางภาคเหนือคงรับเอามาจากประเทศพม่า มีความเชื่อว่า พระอุปคุตซึ่งเป็นภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นองค์อุปัชฌาย์ เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เสด็จลงไปจำศีลภาวนาอยู่ ณ สะดือทะเล ในรอบ 1 ปี จะขึ้นมาโปรดชาวเมืองก่อนเวลารุ่งอรุณชาวพม่ามักตื่นแต่ดึก เพื่อเตรียมอาหารไว้ใส่บาตรพระอุปคุตโดยมีคติความเชื่อว่า หากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรพระอุปคุตแล้วจะได้บุญใหญ่หลวง เกิดโชคลาภและความเป็นสิริมงคลในชีวิต คติความเชื่อนี้จึงทำให้พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ในประเทศไทยการใส่บาตรเที่ยงคืนนี้ชาวเหนือเชื่อกันว่าพระอุปคุตจะแปลงกายเป็นสามเณรออกมาโปรดสัตว์ถ้าผู้ใดได้ใส่บาตรกับพระอุปคุตแล้วบุคคลนั้น จะประสบแต่ความสุขร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทองได้อานิสงส์แรง ดังนั้นเมื่อถึงวันเพ็ญตรงกับวันพุธชาวเหนือทุกคนจะไปคอยใส่บาตรตามวัดที่มีการตักบาตรเที่ยงคืนวันเป็งปุ๊ด

...