เงื่อนปมการถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ของนักการเมืองที่มีเนื้อที่ราว 1,700 ไร่ กำลังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ยังมีนักการเมือง นายทุน ผู้มีอิทธิพล ใช้ที่ดินผิดหลักวัตถุประสงค์การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร

และยังมีบางพื้นที่ใช้ที่ดินอย่างไม่เหมาะสม...ในการสร้างมูลค่าด้วยการนำเอาไปพัฒนาปรับเปลี่ยนจากที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อการเกษตร กลายร่างสร้างเป็นโรงงาน โรงแรม รีสอร์ต บ้านจัดสรร หรือตึกแถว มีทั้งสร้างเสร็จแล้ว และกำลังก่อสร้างโครงการเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

ซึ่งเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ ถูกแอบแฝงซ่อนเร้นซุกไว้ใต้พรมมานาน จนกลายเป็น “ปัญหาเรื้อรัง” รอการรื้อระบบพื้นที่ ส.ป.ก.ใหม่ ให้กลับมาตามวัตถุประสงค์

ในการช่วยเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกิน เพื่อการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเช่นเดิม...

หากย้อนอดีต...ที่รู้กันดีอยู่ว่า “ประเทศไทย” เป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตร “ที่ดิน” คือปัจจัยสำคัญของ “รากฐานการผลิตทางเกษตรกรรม” แต่กลับถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน ต้องสูญเสียสิทธิในที่ดิน เพราะต้องเป็นผู้เช่าที่ดินในอัตราสูงเกินควร

กระทั่งในปี 2518...สมัยรัฐบาล สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรียกว่า ส.ป.ก. มีวัตถุประสงค์ดำเนินการเกี่ยวกับการปรับปรุงสิทธิการถือครองที่ดิน การกระจายสิทธิในที่ดิน ทั้งที่ดินของรัฐและที่ดินของเอกชน ที่มีมากเกินความจำเป็นให้สู่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน

อีกทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาอาชีพ ปรับปรุง ส่งเสริม และสนับสนุน ปัจจัยการผลิตที่จำเป็นต่างๆ และให้จัดตั้งกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นทุนหมุนเวียนใช้จ่ายเพื่อการปฏิรูปที่ดิน ให้เกษตรกรมีรายได้ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และมีการแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2519 และฉบับที่ 3 พ.ศ.2532

...

จุดมุ่งหมายของการปฏิรูปที่ดินในแง่ข้อกฎหมายนี้ นภดล ตันติเมฆิน ผอ.สำนักกฎหมาย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้ข้อมูลว่า หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในยุคนั้น “ที่ดิน” มักตกอยู่ในมือนายทุน ส่วน “เกษตรกร” อยู่ในฐานะ “ผู้เช่า” ทำให้รัฐบาลตัดสินใจแก้ไขด้วยวิธีการปฏิรูปที่ดินขึ้น

มีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง เพื่อประกอบเกษตรกรรมตลอดไป...

ในครานั้น...พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลย เดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ 44,369-0-87 ไร่ ใน 5 จังหวัด คือ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ฉะเชิงเทรา นครนายก

อีกทั้งยังมีพระราชประสงค์ให้เกษตรกรผู้เช่าที่ดินนี้ทำประโยชน์ ได้ทำกินตลอดไป ชั่วลูกหลาน แต่จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น พร้อมกับมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ในระหว่างนั้น...ส.ป.ก.ก็มีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน เริ่มจัดซื้อที่ดิน มาจากเอกชน นายทุน ที่มีเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. ของกรมที่ดิน ที่เรียกว่า
“ที่ดินเอกชน” นำมาจัดสรรให้เกษตรกรผู้เช่าที่ดินทำกินกับนายทุนอยู่เดิม หรือเกษตรกรรายอื่นที่ไม่มีที่ดิน ด้วยวิธีการเช่าที่ดิน

เมื่อเกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถเปลี่ยน “สัญญาเช่าที่ดิน” กลายมาเป็น “สัญญาเช่าซื้อก็ได้” หากปฏิบัติตามข้อสัญญาเช่าซื้อครบถ้วน ก็มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนั้นให้กับเกษตรกร แต่มีเงื่อนไข ตาม ม.39 พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดิน 2518...

ที่ดินที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะทําการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิไปยังผู้อื่นไม่ได้ เว้นตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนให้สถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก.เพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกําหนดในกฎกระทรวง...

ทว่า...ส.ป.ก.มีที่ดินของภาครัฐ ที่ได้มาหลากหลายประเภท เช่น ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ดินสาธารณประโยชน์ไม่ใช้แล้ว ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติ ครม.มอบป่าไม้ ให้ ส.ป.ก.นำมาปฏิรูป ก็นำจัดสรรให้ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดินเช่นกัน ที่มีคุณสมบัติ...ประพฤติดี ร่างกายสมบูรณ์ ขยัน ยินยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบของ ส.ป.ก.

สิ่งสำคัญ...ต้องไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมเป็นของตัวเอง หรือมีเพียงเล็กน้อย ไม่พอต่อการทำเกษตรเลี้ยงชีพ ในแต่ละจังหวัดจะกำหนดขนาดตามการครองชีพไว้ หากไม่กำหนดยึดตาม พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินฯ ถือครองได้ไม่เกิน 50 ไร่ต่อครอบครัว ไม่นับเฉพาะที่ดิน ส.ป.ก.แต่รวมถึงที่ดินแปลงอื่นที่ถือครองอยู่ด้วย

ยกตัวอย่าง...เดิมมีที่ดิน น.ส.3 ก. จำนวน 30 ไร่ หากเช่นนี้จะได้ที่ดิน ส.ป.ก. 20 ไร่ ถ้าไม่มีที่ดินเลยก็ได้ 50 ไร่ เมื่อผ่านการคัดเลือกก็จะมีหนังสือให้สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ได้

ส่วนอีกประเภท...ที่ดินตามคำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 ได้มาจากกลุ่ม 3 ประเภท คือ หนึ่ง...ผู้ไม่ยินยอมเข้ากระบวนการปฏิรูปที่ดิน มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป สอง...กลุ่มบุคคลที่มีการซื้อ ส.ป.ก.4-01 จากเกษตรกรเกินกว่า 100 ไร่ขึ้นไป ถือว่ากระทำผิดระเบียบสิ้นสิทธิ สามารถดำเนินการได้ทันที

และสาม...กลุ่มถูกฟ้องร้องเรียกที่ดินกลับคืนจากผู้ถือครอง 500 ไร่ขึ้นไป และศาลมีคำสั่งถึงที่สุด ให้ที่ดินตกกลับมาเป็นของ ส.ป.ก. ซึ่งจัดในรูปแบบคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ เรียกว่า “สหกรณ์การเกษตร” ในการเช่าที่ดินแปลงนั้น และนำไปให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเช่าต่อไป...

...

อีกทั้งยังมีการจัดที่ดินสนับสนุนเกี่ยวเนื่องเกษตรกรรม เช่น สวนสาธิต แปลงทดลอง โรงงานแปรรูป ให้เป็นกิจการในเขตปฏิรูปที่ดิน...และการจัดที่ดินเพื่อสาธารณูปโภค รวมถึงการจัดที่ดินตามคำสั่ง คสช. 31/2560 เช่น กิจกรรมพลังงานทดแทนด้านแร่ ปิโตรเลียม ยุทธศาสตร์ชาติ...

“ในการควบคุมสิทธิครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. มีข้อห้ามมากมาย เช่น ห้ามมีการซื้อขาย จำหน่ายจ่ายโอน ห้ามนำไปให้บุคคลอื่นเช่า ห้ามนำที่ดินให้คนอื่นใช้ฟรี และห้ามเปลี่ยนสภาพที่ดิน ขุดดินเกินร้อยละ 5 ของที่ดิน และจะนำดินที่ขุดนั้นออกไปไม่ได้ ซึ่งมีข้อสรุปคือ เกษตรกรต้องใช้ประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองเท่านั้น” นภดล ว่า

หากกระทำผิดระเบียบ...ในส่วนของเกษตรกรรม หรือแปลงที่อยู่อาศัย สามารถดำเนินการทางปกครอง ด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน พยานแวดล้อม ในการทำประโยชน์ที่ดิน ทั้งฝ่ายปกครองท้องถิ่น หรือที่ดินข้างเคียง แสดงได้ว่า “มีการซื้อขาย” และแจ้งให้เกษตรกรมาชี้แจง หากหักล้างไม่ได้...

ทำให้สามารถออกคำสั่ง “สิ้นสิทธิ” และบุคคลนั้น พร้อมบริวาร ต้องออกจากที่ดิน...พูดกันง่ายๆ...ผู้ขายไม่ได้ดิน...ผู้ซื้อก็ไม่ได้ดิน กรณีมองว่า...“คำสั่งไม่เป็นธรรม” ก็ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใน 30 วัน หากมีการพิจารณายืนตามคำสั่งเดิม ยังยื่นคำร้อง
ต่อศาลปกครองต่ออีกได้

สำหรับการควบคุมแปลงสาธารณูปโภค กิจกรรมสนับสนุนเกี่ยวเนื่อง ต้องสอดคล้องตามขออนุญาต หากทำผิดต้องนำที่ดินกลับคืน...หรือยกเลิกสัญญา เพราะที่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ ส.ป.ก. ในการปฏิบัติผิดระเบียบทุกวัน และมีคำสั่งให้สิ้นสิทธิมากที่สุด คือ มีการซื้อขาย เปลี่ยนมือ และการขุดดินออกจากที่ดินไป

...

ประเด็นน่าสนใจ....เรื่องสร้างโรงแรม หรือรีสอร์ต ในพื้นที่เขต ส.ป.ก. กำลังตรวจรายละเอียดเงื่อนไขว่าตรงในเรื่องการสนับสนุน เกี่ยวเนื่องหรือไม่ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้อ 1.5 กิจการที่เป็นการบริการหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่เกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคม ยกเว้นเชิงธุรกิจทำไม่ได้เลย

จริงๆแล้ว...การจัดที่ดิน ส.ป.ก.นี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อการเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ก็ยังมีกิจกรรมอย่างอื่นด้วย ที่มุ่งให้เกษตรกร...ขอย้ำว่า...เกษตรกร ต้องการทำเกษตรเป็นหลัก ที่ไม่เกี่ยวกับยากจน หรือร่ำรวย

เกษตรกรคนใด...เข้าหลักเกณฑ์ตามนี้...ไม่มีที่ดิน หรือมีไม่พอเลี้ยงชีพ ก็มีสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.ได้ไม่เกิน 50 ไร่ต่อครอบครัวเท่านั้น...หากใครมีเกินกว่านี้...ก็คงรู้สึกหนาวๆ...ร้อนๆกันต่อไป...