คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนปลายน้ำจะได้เดินทางเข้าไปเรียนรู้ชีวิตต้นน้ำอย่างแท้จริง แต่โครงการ ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ ครั้งที่ 2 เขาใหญ่ ก็เป็นอีกครั้งที่ ‘กลุ่มธุรกิจ TCP’ ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของไทยและของโลก พร้อมเหล่าจิตอาสา และ TCP Spirit Ambassador ‘อเล็กซ์ เรนเดลล์’ รวมถึงวิทยากรพิเศษ ‘อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร’ เดินทางไปทำความเข้าใจต้นน้ำและการจัดการน้ำตามธรรมชาติกันที่เส้นทางธรรมชาติน้ำตกผากล้วยไม้ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก่อนจะตอบคำถามด้วยหัวใจได้ด้วยว่า ทำไมการเรียนรู้ลุ่มน้ำ ถึงทำให้เข้าใจชีวิต

พยาบาลลุ่มน้ำ ด้วยสองมือ หนึ่งหัวใจ

จากจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการดูแลลุ่มน้ำทั่วประเทศไทยในระยะยาวของ กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของไทยและของโลก เช่น กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ สปอนเซอร์ แมนซั่ม และเพียวริคุ โดยต่อยอดมาจาก ‘กระทิงแดง สปิริต’ โครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความยั่งยืนผ่านกิจกรรมอาสาสมัครมายาวนาน โดยหมุนเวียนนำเสนอประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ด้วยกัน นำไปสู่การจัดกิจกรรม ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ เพื่อให้อาสาสมัครที่มีใจรักสิ่งแวดล้อมได้เรียนรู้ปัญหาเรื่องน้ำและวิธีการจัดการน้ำที่ทุกคนนำกลับไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้ ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเดินทางไปยังเส้นทางธรรมชาติน้ำตกผากล้วยไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่’ เมื่อวันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา

โครงการ ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ ครั้งที่ 2 เขาใหญ่ มีอาสาสมัครจากทั่วประเทศกว่า 100 คน เดินทางไปทำความเข้าใจต้นน้ำและการจัดการน้ำตามธรรมชาติ รวมถึงการจัดการที่ดินที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา-เขาใหญ่ โดยมีทีมวิทยากร และวิทยากรพิเศษ อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลกและผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่มาให้ความรู้ในเรื่องการออกแบบพื้นที่แก่อาสาสมัคร รวมถึงอธิบายการนำหลักกสิกรรมธรรมชาติมาใช้ในการดูแลดินและน้ำ ที่แม้จะเป็นเรื่องแปลกใหม่กับหลายคนอยู่บ้าง แต่ทุกคนยังเต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น

ครั้งนี้ยังมี TCP Spirit Ambassador อเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดงหัวใจสีเขียว มาร่วมเรียนรู้ และทำกิจกรรม อย่างเต็มกำลัง พร้อมยังส่งต่อแรงบันดาลใจดีๆ ในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับอาสาสมัครในฐานะ TCP Spirit Ambassador เป็นปีที่ 2 อีกด้วย 

ลุ่มน้ำ คือหัวใจของสรรพชีวิต

การเดินทางเข้ามาเรียนรู้ถึงแหล่งการเรียนรู้ที่แท้จริงครั้งนี้ ทำให้หลายคนได้พบว่าแท้จริงแล้ว ลุ่มน้ำ คือหัวใจของสรรพชีวิต และเป็นเหตุผลว่าทำไมการร่วมแรงร่วมใจกันในครั้งนี้จึงมีความหมายอย่างมาก คุณฉัตรปรีชา ชฎากุล หัวหน้าสถานีวิจัยลุ่มน้ำมูล เล่าถึงความหมายของคำว่า ‘ต้นน้ำ’ และ ‘ลุ่มน้ำ’ ให้เหล่าจิตอาสาได้เข้าใจว่า ต้นน้ำ เป็นส่วนที่อยู่สูงที่สุด และเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารทั้งหลาย โดยมาก ‘ต้นน้ำ’ มักเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำบนที่สูงอย่างภูเขา เช่นป่าลุ่มน้ำลำตะคองที่น้ำไหลลงมาจากเขาฟ้าผ่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในขณะที่ ‘ลุ่มน้ำ’ คือพื้นที่รับน้ำฝนทั้งหมดที่อยู่เหนือจุดไหลออกของน้ำ มีลักษณะเหมือนแอ่งกระทะ โดยมีขอบกระทะเป็นสันปันน้ำ และมีองค์ประกอบเป็นทรัพยากรกายภาพ เช่น ดิน ที่ดิน หิน แร่ธาตุ ทรัพยากรชีวภาพ เช่น ป่าไม้ สัตว์ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงระบบนิเวศต่างๆ จนถึงทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น อย่าง ที่อยู่อาศัย ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม เป็นต้น แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าต้นน้ำที่คอยดูดซับน้ำบนภูเขาถูกทำลายไปมาก จนสูญเสียพื้นที่ต้นน้ำ ผู้ที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำจึงได้รับผลกระทบต่อกันเป็นทอดๆ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการรู้จักกับ ‘ลุ่มน้ำ’ และเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาร่วมกัน จึงสำคัญ

สำหรับโครงการ ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ ครั้งที่ 2 เขาใหญ่ ครั้งนี้เหล่าจิตอาสาได้เดินสำรวจป่าลุ่มน้ำลำตะคองกันที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผากล้วยไม้ ที่ไหลมาจากป่าต้นน้ำบนเขาฟ้าผ่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นทั้งจุดกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวนครราชสีมา และป่าเก็บน้ำที่เสมือนเขื่อนธรรมชาติช่วยป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้ง พร้อมได้รับความรู้น่าสนใจในหลายเรื่อง ตั้งแต่ทำความเข้าใจ ‘หลุมขนมครก’ หรือ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ อันเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการแก้ปัญหาน้ำปนเปื้อนสารเคมีทะลักเข้ามาในที่ดินและการพังทลายของหน้าดินริมลำธาร การแก้ปัญหาน้ำปนเปื้อนสารเคมีไหลทะลักเข้ามาในที่ดินด้วยการทำ ‘สปาน้ำเสีย’ การแก้ปัญหาชะล้างพังทลายของหน้าดินริมลำธารด้วยการ ‘กักดิน เก็บน้ำ ปลูกแฝก’ การปลูกต้นกล้วยป้องกันหน้าดินพัง การปลูกผลไม้และผักสวนครัวบนหัวคันนาเพิ่มมูลค่า วิธีการฆ่าหญ้าโดยให้หญ้าฆ่ากันเอง วิธีการปลูกป่า 5 ระดับ โดยปลูกต้นพืชหลายชนิดที่มีความสูงต่างระดับกันในแปลงเดียวกัน เพื่อให้เกื้อกูลกันเหมือนป่า และการทำน้ำหมักรสจืดจากหน่อกล้วยและปั้นระเบิดจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย

แม้วิชาเกษตรของคนต้นน้ำจะดูเป็นเรื่องไกลตัวในชีวิตประจำวันของคนเมืองจากปลายน้ำอยู่บ้าง แต่การเรียนรู้วิชาชีวิตครั้งนี้ก็เท่ากับเป็นวิชาสำคัญให้เหล่าจิตอาสาได้เห็นความหมายของชีวิตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดกำเนิดของสรรพชีวิตที่มีลุ่มน้ำเป็นแหล่งก่อกำเนิดที่มีคุณค่า

ติดตามกิจกรรมดีๆ แบบนี้ได้ที่ www.tcp.com และ facebook.com/TCPGroupThailand/