กรมการค้าภายในเตรียมดึงค่าบริการทางการแพทย์ 200 รายการขึ้นเว็บไซต์ ติดคิวอาร์โค้ดเปรียบเทียบโรงพยาบาลเอกชน 351 แห่ง มีทั้งค่าหมอ ค่าเอกซเรย์ ค่าห้อง ค่าอาหาร คาดประกาศใช้ต้นปี 63 หลังได้นำราคายาของแต่ละโรงพยาบาลขึ้นไว้บนเว็บไซต์ของกรมแล้ว ได้รับความสนใจจากประชาชนผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเข้ามาเช็กและเทียบราคาจำนวนมาก

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างการนำราคาค่าบริการในโรงพยาบาล เอกชน 200 รายการ จากรายการยาตามรหัสบัญชีข้อมูลและรหัสยามาตรฐานไทย (ทีเอ็มที) ในส่วนค่าบริการทางการแพทย์ทั้งหมด 5,000 รายการ ขึ้นเว็บไซต์กรมการค้าภายใน www.dit.go.th  เพื่อเปรียบราคาค่าบริการแต่ละโรงพยาบาล 351 แห่ง เช่น ค่าเอกซเรย์, ค่าตรวจเลือด, ค่าห้อง, ค่าอาหาร เป็นต้น มาจัดทำเป็นคิวอาร์โค้ดเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและเปรียบเทียบราคายา คาดว่าจะประกาศขึ้นเว็บไซต์ได้ต้นปี 63 ทั้งนี้ หากมีการขึ้นเว็บไซต์เกี่ยวกับค่าบริการก็จะทำให้ ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในการเข้าไป รักษาในโรงพยาบาลเอกชนเพราะจะสามารถประเมิน ค่าใช้จ่ายตัวเองแบบไม่เป็นทางการได้ และที่ผ่านมา แต่ละโรงพยาบาลก็มีความแตกต่างกันมาก

“เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา กรมได้นำราคา ยาของแต่ละโรงพยาบาลขึ้นไว้บนเว็บไซต์ของกรม เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบและค่อนข้างได้รับความสนใจจากผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเข้ามาเช็กและเทียบราคาจำนวนมาก ดังนั้น กรมก็จะขยาย เรื่องของราคายามาเป็นค่าบริการ โดยจะคัดเลือกค่าบริการ 200 รายก่อน เน้นบริการที่ประชาชนเข้ามาใช้บริการกันจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ยอมรับ การเปรียบเทียบราคาค่าบริการค่อนข้างจะยากกว่าการเปรียบเทียบราคายา แต่ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เข้ามาช่วยเหลือในการวิเคราะห์”

...

นายประโยชน์ กล่าวว่า ส่วนการศึกษาเพื่อพิจารณาแนวทางในการกำหนดส่วนต่างของต้นทุนและราคาขายหรือมาร์จิ้นของยานั้นมีความคืบหน้าไปมาก เบื้องต้นก็จะมีการแบ่งกลุ่มต้นทุนราคาหลายกลุ่ม เช่น ราคาหลักสตางค์ต่อเม็ด, ราคาหลักบาทแต่ไม่เกิน 10 บาท, ราคา 10-50 บาท ราคา 50-100 บาท เป็นต้น เพื่อกำหนดส่วนต่างหรือเปอร์เซ็นต์ที่ห้ามขายเกินจากต้นทุน คาดว่าในเร็วๆนี้จะได้ข้อสรุปเช่นกัน “ต้องมีการกำหนดยาออกเป็นหลายกลุ่ม เช่น ยาราคาต่ำเม็ดละไม่กี่บาท, ยาราคาแพง, ยาหายาก, ยาที่ใช้กันน้อย แต่ก็จำเป็นต้องมี เป็นต้น เพราะหากจะกำหนดส่วนต่างในอัตราเดียวกันหมดก็จะทำให้ยาราคาถูกได้รับผลกระทบ เช่น ต้นทุนเม็ดละ 50 สต. หากกำหนดห้ามเกิน 100% หรือเม็ดละ 1 บาท ก็ยังไม่กระทบต่อผู้ป่วยมากนัก แต่หากเป็นยาแพงต้นทุนเม็ดละ 100,000 บาท หากกำหนดห้ามเกิน 100% ราคา จำหน่ายก็จะเป็น 200,000 บาท ซึ่งจะสร้างความ เดือดร้อนแก่ผู้ป่วยอย่างมาก ดังนั้น การกำหนดเปอร์เซ็นต์ส่วนต่างก็จะมีหลายอัตราตามกำหนดที่กรมกำลังพิจารณา”

ก่อนหน้านี้กรมได้ร่วมมือกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนยาของโรงพยาบาลเอกชนในตัวยา นำร่อง 6 ชนิด เช่น ยา Beststin (ลดไขมัน มีราคาขาย 2-61 บาทต่อเม็ด หรือมีกำไรจากต้นทุน 185.71 -11,965.21%, ยา Tylenol (แก้ปวดลดไข ราคาขาย 1-22 บาท หรือกำไรจากต้นทุน 26.58-4,483.34%, ยา Anapril (ลดความดัน) ราคาขาย 2-56 บาท หรือกำไรจากต้นทุน 150-9,100%, ยา Depakime (รักษาลมชัก) ราคาขาย 300-1,354 บาท และ Herceptin (ยามะเร็ง) ราคาขาย 86,500-234,767 บาทต่อเม็ด กำไรจากต้นทุน 9.98-188.80%.