ต้นปาล์มน้ำมันอายุมากกว่า 20 ปี ให้ผลผลิตน้อยลง เกษตรกรต้องโค่นทิ้งปลูกใหม่...แต่มีต้นทุนค่าจ้างในการโค่นต้นละ 200 บาท ไร่ละ 4,400 บาท
สวนที่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่ จะใช้รถแบ็กโฮดันต้นปาล์มให้ล้ม ส่วนเจ้าของสวนระดับชาวบ้านจะใช้วิธีประหยัดสุด เอาสว่านเจาะลำต้นแล้วหยอดยาฆ่าหญ้าให้ยืนต้นตาย แล้วปล่อยให้เน่าเปื่อยล้มลงไปเอง
แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีโค่นแบบไหน...บทสรุปสุดท้าย ต้นปาล์มจะถูกทิ้งให้ผุพังอยู่ในสวนอย่างไร้ค่าไปอย่างน่าเสียดาย และแต่ละปีบ้านเราจะมีสวนปาล์มที่หมดอายุต้องโค่นทิ้งมากถึง 200,000 ไร่
...
“ขณะนี้ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย มีการนำต้นปาล์มน้ำมันแก่มาแปรรูปเป็นไม้ ใช้ประโยชน์มากมาย ตั้งแต่ทำเป็นไม้สร้างบ้านที่อยู่อาศัย อิฐมวลเบา เฟอร์นิเจอร์หลายรูปแบบ รวมทั้งนำเศษไม้ปาล์มมาใช้ประโยชน์ เป็นพลังงานในรูปแบบของวู้ดพาเลต (Pellet) ส่งขายให้ญี่ปุ่น ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี Boiler ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสามารถใช้ต้นปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงได้ เพราะต้นปาล์มมีน้ำมันที่สามารถกัดกร่อน Boiler รุ่นเก่า”
ดร.สุเทพ จันทร์เขียว ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บอกอีกว่า นอกจากนี้ยุโรปยังมีตลาดของกลุ่มผู้ซื้อวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากต้นปาล์มน้ำมันจำนวนมาก
“อย่างเยอรมนีมีความต้องการไม้จากต้นปาล์มในรูปแบบต่างๆ เรียกได้ว่าซื้อไม่อั้น แต่เขามีเงื่อนไข ไม้จากต้นปาล์มจะต้องมีการรับรองแหล่งที่มาที่ไปให้ถูกต้องตามกฎหมายและสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งปลูกได้ ดังนั้น ถ้าเราจะเอาต้นปาล์มที่ถูกทิ้งไปแบบสูญเปล่ามาใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าสร้างรายได้ให้เกษตรกร เราจะต้องสร้างมาตรฐานการรับรองห่วงโซ่การควบคุมแหล่งที่มา หรือ Chain of Custody (CoC) กับไม้จากต้นปาล์มน้ำมัน”
เหตุที่จำเป็นต้องสร้างมาตรฐานไม้จากต้นปาล์มน้ำมันขึ้นมา ดร.สุเทพ กล่าวว่า เนื่องจากมาตรฐานการจัดการป่าไม้ที่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้นั้น ไม้ทุกชนิดจากสวนป่า รวมทั้งไม้ยางพารา ไม้ยูคาฯ ล้วนมีมาตรฐานกันหมดแล้ว แต่ไม่ครอบคลุมถึงต้นปาล์มน้ำมัน หรือสวนปาล์มน้ำมัน...เพราะไม่ถูกจัดให้เป็นป่าหรือสวนป่า
สำหรับมาตรฐาน CoC สำหรับต้นปาล์มหรือสวนปาล์ม ที่มีทั้งโรงงานแปรรูปไม้ปาล์มน้ำมันรวมอยู่ด้วย ในปัจจุบันมีเพียงมาเลเซียประเทศเดียวที่ทำสำเร็จไปแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2560 และตอนนี้กำลังโกยกำไรอื้อซ่าขายให้กับยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี
...
ส่วนประเทศไทยขณะนี้ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มก. ได้รับทุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และงบประมาณสนับสนุนบางส่วนจากบริษัท PlamwoodNet บริษัท Jowat จากประเทศเยอรมนี เพื่อผลักดันให้เกิดมาตรฐาน CoC ขึ้นในบ้านเรา
ขณะนี้อยู่ระหว่างลงมือศึกษาวิจัยและพัฒนามาตรฐานโดยอาศัยแนวทางของมาเลเซียเป็นต้นแบบ...คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563
พี่น้องชาวสวนปาล์มเตรียมเนื้อเตรียมตัวรับเงินขายต้นปาล์มแก่ได้...ดีกว่าปล่อยทิ้งให้ปลวกกินเป็นไหนๆ.
ไชยรัตน์ ส้มฉุน