นางจินตนา จันทร์บำรุง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมการบูรณาการจัดระเบียบผู้ทำการขอทาน และแนวทางการควบคุมผู้ทำการขอทานต่างด้าว ในเขตกรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตำรวจนครบาล ตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์ผู้ทำการขอทานและคนไร้ที่พึ่งซึ่งยังพบมีจำนวนมากขึ้น และปรากฏผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยในช่วงปี 2562 พบผู้ทำการขอทานจำนวน 433 ราย เป็นคนไทย 276 ราย ต่างด้าว 157 ราย โดยเป็นชาวกัมพูชามากที่สุด รองลงมาเป็นชาวจีน เมียนมา ลาว และญี่ปุ่น ตามลำดับ

โดย กทม.เป็นจังหวัดที่พบขอทานมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดระเบียบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังพบปัญหา โดยเฉพาะต่างด้าวเมื่อถูกจับปรับและผลักดันกลับประเทศต้นทางก็กลับเข้ามาใหม่ เพราะเห็นว่าเป็นช่องทางหาเงินได้ดี ที่ประชุมจึงได้หารือวางมาตรการแก้ปัญหาให้เข้มข้น โดยกำหนดจัดระเบียบผู้ทำการขอทานและคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่ กทม. ด้วยการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 12-27 พ.ย. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบปีที่ดำเนินงานร่วมกันระหว่าง พส. กทม. ตำรวจ สตม. องค์กรเฟรนด์ประเทศไทย ซึ่งจะมีการสืบหาถึงต้นตอว่าเกี่ยวโยงถึงขบวนการแสวงหาผลประโยชน์ เชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์หรือไม่ เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด

รองอธิบดี พส.กล่าวอีกว่า การจัดระเบียบครั้งนี้จะเน้นพื้นที่เสี่ยงที่พบมีคนขอทานจำนวนมากใน 10 เขตของ กทม. เช่น หน้าห้างสรรพสินค้า, สถานีรถไฟฟ้า, ตลาด, สะพานลอย เป็นต้น การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นตอคือการรณรงค์ให้ทานถูกวิธี โดยไม่ให้เงินขอทานโดยตรง แต่บริจาคผ่าน พม.ที่มีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ฟื้นฟูดูแล.

...