ยุทธศาสตร์ 2 ประสาน "อุทยานวิทย์ภาคเหนือ-เขตนวัตกรรมฯ ตะวันออก"
ยุทธศาสตร์ 2 ประสาน “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)” กับแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ (Northern Economic Corridor)
หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศร่วมกับทุกภาคส่วน จากศูนย์กลาง EECi ภาคตะวันออกสู่ภาคเหนือ โดยมุ่งเน้นการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง และมีการถ่ายทอดให้กับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้มแข็งควบคู่ไปกับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงผ่านงานวิจัยแห่งอนาคต
โดยมี “อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ” เป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนกลไกผ่านความร่วมมือจาก 7 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย เชียงใหม่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแม่ข่าย แม่โจ้ แม่ฟ้าหลวง พะเยา นเรศวร ราชภัฏอุตรดิตถ์ และ ราชภัฏพิบูลสงคราม
“อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเป็นกลไกสำคัญในการนำนโยบายของ อว.มาปรับใช้อย่างจริงจัง โดยมีแผนในการเชื่อมต่ออุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคสู่ EECi พร้อมเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาให้สามารถผลิตกำลังคนที่มีระดับความรู้และความสามารถ ที่สอดคล้องกับความต้องการในภาคอุตสาหกรรม เตรียมความพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือนำร่อง” น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเปิดเผยถึงการเดินหน้าผลักดันกลไกอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
...
การเชื่อมโยงอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือสู่ EECi จะทำให้พื้นที่ จ.เชียงใหม่ กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือเป็นตัวกลางสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์ งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านโครงการและความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาเขตบริการนวัตกรรมสุขภาพ ที่มุ่งสนับสนุนผลงานวิจัยนวัตกรรมด้านการแพทย์และชีววิทยาศาสตร์ โดยอาศัยเทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีฐานสุขภาพดิจิทัล เทคโนโลยีผู้สูงวัย พร้อมองค์ความรู้จากสมุนไพรธรรมชาติและนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์สู่การสร้างเมืองแห่งสุขภาพและการแพทย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม
รวมถึงโครงการเมืองนวัตกรรม อาหาร ที่มีโรงงาน ต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovative Food Fabrication Pilot Plant : IFFPP) จะเปิดให้บริการต้นปี 2563 ซึ่งวางเป้าหมายการให้บริการแก่ภาคเอกชน ผู้ประกอบการและสตาร์ตอัพในพื้นที่ภาคเหนือ ในการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านอาหาร เครื่องดื่ม การแปรรูป และผลิต-ภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าสูง
โดยให้บริการใน 4 สายการผลิต ได้แก่ 1.กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบประเภทผักผลไม้ที่ผ่านการปรับกรด อาทิ สตรอว์เบอร์รี ส้ม มะขาม 2.กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทกรดต่ำ โดยใช้ความร้อนสูงในการฆ่าเชื้อ ได้แก่ นม นมธัญพืช น้ำกะทิ เครื่องดื่มและอาหารในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท 3.กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปโดยใช้เทคโนโลยีการทำแห้งขั้นสูง เช่น นมผง ชาผง กาแฟ ผักผลไม้อบแห้ง ผลิตภัณฑ์ในรูปแคปซูล หรืออัดเม็ด ขนมอบกรอบ และ 4.กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารด้วยการสกัดโดยใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น สารสกัด สารให้กลิ่นรส น้ำมัน เครื่องดื่มที่ให้สารอาหารสูง
“การเชื่อมโยง EECi กับแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ ได้รับยกเว้นภาษีอากรตามเงื่อนไข สิทธิในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สำคัญจะทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EECi มีพื้นที่ในการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการสร้างผู้ประกอบการ BCG โมเดล ได้แก่ B-Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ C-Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ G-Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และเกิดการยกระดับศักยภาพเชิงพื้นที่ ทั้งการยกระดับงานวิจัยสู่การใช้งานจริง เพิ่มการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเชื่อมโยงเครือข่ายการลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ”
...
น.ส.ทิพวัลย์ ระบุและว่า ทั้งนี้ จะมีเรื่องของการสร้างสรรค์หลักสูตรอุดมศึกษายุคใหม่ให้สามารถรองรับอาชีพการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น
ถัดจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จะตามมาด้วยการเชื่อม EECi สู่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้
...
ด้าน ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ กล่าวว่า อุทยานมีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และการให้บริการด้านต่างๆ ที่เอื้อต่อการเป็นระบบนิเวศนวัตกรรม ทั้งยังมีพื้นที่ทดสอบตลาดสินค้านวัตกรรมสำหรับผู้ใช้บริการกับอุทยานที่ช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้ประกอบ-การในการวิเคราะห์กลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมก่อนวางจำหน่ายในตลาดจริง
“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่า ยุทธศาสตร์ 2 ประสานน่าจะตอบโจทย์ประเทศในการกระจายโอกาสในเชิงพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ขับเคลื่อน
เพื่อสร้างธุรกิจนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์อย่างครบวงจร ฉุดประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลางเสียที.
ทีมข่าววิทยาศาสตร์