จากสถานการณ์เกิดโรคไหม้ระบาดในนาจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว เตือนเกษตรกรให้เตรียมรับมือโรคไหม้ เพราะเป็นโรคที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ระบาดได้ทั้งในข้าวนาสวนและข้าวไร่ ทั้งในฤดูนาปีและนาปรัง และพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าว

ในระยะต้นกล้า ใบจะมีแผลจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตามีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มม. ยาวประมาณ 10-15 มม. แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตายอาการคล้ายถูกไฟไหม้

ระยะแตกกอ อาการพบที่ใบ ข้อต่อใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ

ระยะออกรวง จะเรียกว่า โรคไหม้คอรวง ข้าวที่เพิ่งจะเริ่มให้รวงเมื่อถูกเชื้อราเข้าทําลายเมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยวจะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลบริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่น เสียหายมาก

การป้องกันกำจัด ในกรณีที่พบโรคทำใบเสียหายถึง 10% ในข้าวระยะกล้าถึงแตกกอเต็มที่ และ 5% ในข้าวระยะตั้งท้อง หรือพบแผลโรคไหม้ที่ใบธง ควรใช้สารป้องกันกำจัด เช่น ไตรไซคลาโซล ไอโซโปรไธโอเลน (ควรใช้เฉพาะในระยะกล้าถึงแตกกอ) ตามอัตราที่ระบุในฉลาก

ส่วนการปลูกในฤดูกาลต่อไปให้เลือกใช้พันธุ์ค่อนข้างต้านทานโรค...ภาคกลางใช้พันธุ์สุพรรณบุรี 1, สุพรรณบุรี 60, ชัยนาท 1, ปราจีนบุรี 1, พลายงาม และพิษณุโลก 1...ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้พันธุ์พิษณุโลก 1, สุรินทร์ 1, เหนียวอุบล 2, สันปาตอง 1, หางยี 71,กู้เมืองหลวง, ขาวโป่งไคร, น้ำรู และ กข 33...ภาคใต้ ใช้พันธุ์ดอกพะยอม และ กข 55

...

หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตรา 15–20 กิโลกรัมต่อไร่ และควรแบ่งแปลงให้มีการระบายอากาศที่ดี และไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเกินไป ถ้าสูงถึง 50 กิโลกรัมต่อไร่ โรคไหม้จะพัฒนาอย่างรวดเร็ว

และคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไตรไซคลาโซล คาซูกาไมซิน ตามอัตราที่ระบุในฉลาก.

สะ–เล–เต