แม้มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะเป็นเอกฉันท์แบน 3 สารเคมี พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส...แต่ยังสร้างความคลางแคลงใจให้สังคมหลายประเด็น โดยเฉพาะจะให้เกษตรกรใช้อะไรทดแทน

เวทีการเสวนาเรื่อง “แบน 3 สาร อะไรจะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรรมไทย” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน...ดร.เอนก ลิ่มศรีวิไล ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตพืชพลังงานทดแทน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ที่คลุกคลี
กับวงการเกษตรมากว่า 50 ปี

ถ้าจะให้ประเทศไทยไม่อาบสารพิษอย่างที่พูดกัน ควรงดนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ยังใช้สารเหล่านี้ด้วยหรือไม่ เพราะทุกประเทศที่เรานำเข้าผักผลไม้เข้ามา ยังใช้สารเหล่านี้อยู่

ตัวอย่างใกล้ตัว ถั่วเหลือง ที่ไทยปลูกเท่าไรก็ไม่พอใช้ ต้องนำเข้ากว่า 90% ในจำนวนนี้ 80% มาจากสหรัฐฯ และละตินอเมริกา ส่วนใหญ่นำไปใช้ในอุต สาหกรรมนมถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง และอาหารสัตว์ มูลค่ารวมๆกันทั้งห่วงโซ่หลายแสนล้านบาท

รู้กันหรือไม่ ประเทศแถบนี้ปลูกถั่วเหลืองจีเอ็มโอ ที่ทนทานต่อไกลโฟเซต

อธิบายให้เข้าใจคือ ปลูกถั่วเหลืองจีเอ็มโอแม้จะมีหญ้าขึ้นเท่าไร ฉีดไกลโฟเซตเข้าไปถั่วเหลืองทนได้ ไม่ตายเหมือนถั่วเหลืองทั่วไป

ไกลโฟเซตเป็นสารเคมีชนิดดูดซึม ถ้าเชื่อว่ามันตกค้างในพืช ลองมโนว่ามันจะมีมากเท่าไร...นี่ยังไม่รวมข้าวสาลี ข้าวโพดอาหารสัตว์ที่เป็นจีเอ็มโอทนไกลโฟเซตเหมือนกัน รวมทั้งผลไม้นำเข้าไม่ใช่จีเอ็มโอจากจีน และจากประเทศต่างๆเกือบทั้งโลก...เพราะทั้งโลกใบนี้ มีใช้ไกลโฟเซตกำจัดวัชพืชมากถึง 161 ประเทศ

ถ้าเราแบนไกลโฟเซต ต้องแบนผลผลิตที่มาจากประเทศใช้ไกลโฟเซตด้วย...สิ่งที่ตามมา เราจะโดนตอบโต้เรื่องภาษีแน่ เกษตรกรมีแต่ตายกับตาย

...

นี่แค่ไกลโฟเซตตัวเดียว ถ้าโลกสวยจะแบนไปทุกอย่าง ให้แผ่นดินปลอดสารพิษอย่างที่คุยกัน เราจะทำมาหากิน ไปขายอะไรให้ใครได้... ตื่นๆๆๆ กลับมาสู่โลกแห่งความจริงกันบ้างนะตัวเอง.

สะ–เล–เต