ทุกวันนี้ “การซื้อรถยนต์ใหม่” หรือ “การซื้อรถเต็นท์มือสอง” ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะธุรกิจนี้แข่งขันสูง ส่งผลให้มีโปรโมชันออกมาจากค่ายรถยนต์มากมาย ให้เกิดแรงจูงใจต่อผู้ซื้อ แต่การซื้อต้องทำสัญญาเช่าซื้อ ผ่านไฟแนนซ์ และสัญญานี้ก็เป็นอันสมบูรณ์ สามารถนำ “รถคันโปรด” ออกมาขับได้

เริ่มสตาร์ตผ่อนงวดรถกับ “ไฟแนนซ์” ตามสัญญาให้ครบถ้วน แต่มีปัญหาอยู่ว่า...เมื่อนำรถมาขับระยะหนึ่ง มักไม่ผ่อนชำระกับไฟแนนซ์ กลับนำรถยนต์เช่าซื้อติดไฟแนนซ์ออกมา “ขายดาวน์” ให้ “ผู้ซื้อ” ที่ต้องจ่ายเงินก้อนจำนวนหนึ่งให้กับผู้ขาย และผ่อนต่อกับไฟแนนซ์ในงวดที่เหลืออยู่ด้วย

กลายเป็น “ความเสี่ยงใกล้ตัว” ในเรื่องข้อกฎหมาย มีผลเกิดเป็น “คดีอาญาและคดีทางแพ่ง” ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ที่อาจเป็นบทเรียนราคาแพงตามมา

ปัญหาโลกแตกเรื่องหลอกซื้อ-ขายดาวน์รถยนต์นี้ คมเพชญ จันปุ่ม หรือ “ทนายอ๊อด” ทนายความอิสระให้ข้อมูลว่า ในเรื่องการถูกหลอกขายดาวน์แล้วถูกเชิดรถไปเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะรูปแบบ “ขายดาวน์” มีความง่ายไม่ซับซ้อนยุ่งยาก และไม่จำเป็นต้องมีใบคู่มือสมุดจดทะเบียนตัวจริง

ซึ่งสามารถใช้เพียงสำเนาใบคู่มือฯ และสัญญาเช่าซื้อ ที่บริษัทไฟแนนซ์ ให้มาคู่กับรถไว้อยู่แล้ว ก็นำมาใช้เป็นหลักฐานในการซื้อ-ขายดาวน์กันได้ กลายเป็นช่องทาง “พวกมิจฉาชีพ” กำลังนิยมใช้เป็นเครื่องมือ “หลอกลวงเหยื่อร้อนเงิน” ต้องการใช้เร่งด่วน

โดยเฉพาะการประกาศขายดาวน์ผ่านตามตลาดรถยนต์ หรือเว็บไซต์ออนไลน์ต่างๆ มักเกิดการซื้อขายกับ “บุคคลไม่รู้หน้า...ไม่รู้ใจ” ทำให้เจ้าของรถถูกกลุ่มมิจฉาชีพติดต่อซื้อขายรถไปแล้ว และไม่ยอมส่งค่างวดต่อ

...

มีผลกระทบต่างๆจนตกเป็นผู้เสียหาย ต้องรับภาระผ่อนได้เฉพาะแต่กุญแจ...ไม่มีโอกาสได้ใช้สอยรถอีกต่อไป...

ซ้ำร้าย...“เจอแจ็กพอต” ผู้ซื้อนำไปขายดาวน์ต่ออีกทอดหนึ่ง หรือ “นำรถไปจำนำ”...หากไม่นำเงินมาไถ่ถอนรถตามเวลาตกลงกัน...สุดท้าย “ผู้รับจำนำ” ก็นำรถออก “ขายตลาดมืด” หรือประกาศขายผ่านเว็บไซต์ต่างๆ และมีบางคันถูกส่งขายไปประเทศเพื่อนบ้าน ในราคาถูกกว่ารถป้ายแดงทั่วไป 80 เปอร์เซ็นต์

สิ่งสำคัญตั้งแต่ขายดาวน์ไปจนถึงการซื้อขายรถหลุดจำนำ มีการทำสัญญากันไว้ทุกขั้นตอน ในการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ในความผิดทางอาญา ที่เป็นข้ออ้างไม่รู้ถึงการกระทำความผิดมีมาก่อนหน้านั้น ทำให้เกิดเป็นคดีความผิดสัญญาในทางคดีแพ่ง

หลักๆนี้...ก็คือขั้นตอนกระบวนการ “โดนหลอก โดนโกง ในเรื่องการซื้อ-ขายดาวน์รถ” ที่ไม่เปลี่ยนสัญญาผู้เช่าซื้อกับไฟแนนซ์ หรือการเปลี่ยนมือ...

แต่ในทางกฎหมาย...“การเช่าซื้อรถยนต์” มีไฟแนนซ์เป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์รถยนต์นั้น ผู้เช่าซื้อไม่สามารถขายต่อให้บุคคลอื่นได้ ถ้ายังส่งค่างวดรถให้แก่ไฟแนนซ์ไม่ครบ เพราะการถือกรรมสิทธิ์ในตัวรถ ยังคงเป็นของไฟแนนซ์ ซึ่งผู้เช่าซื้อมีสิทธิเพียงการครอบครองไว้ใช้สอยรถเท่านั้น

หากอยากขายดาวน์ต้องให้ผู้ซื้อเปลี่ยนชื่อผู้เช่าซื้อใหม่ ในสัญญาที่เคยทำไว้ แต่ไฟแนนซ์จะเปลี่ยนชื่อผู้เช่าซื้อให้ก็ได้...หรือไม่เปลี่ยนชื่อให้ก็ได้ เพราะในทางพฤตินัยไฟแนนซ์คือเจ้าของรถตัวจริง มีอำนาจพิจารณาในการตัดสินใจ ที่ต้องยึดให้เกิดประโยชน์มากกว่าเสียผลประโยชน์

ที่ผ่านมาประชาชนทั่วไปกลับไม่เข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และสัญญาการเช่าซื้อรถยนต์ มักนำรถไปขายดาวน์ให้กับบุคคลอื่น ในทางกฎหมายไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายได้ ถ้าผู้ซื้อไม่ยอมผ่อนค่างวดต่อ ทำให้...ไฟแนนซ์ก็ต้องมาทวงถามกับผู้ขายดาวน์ ในฐานะคู่สัญญาผู้เช่าซื้อรถ

กลายเป็นปัญหาให้กับผู้ขายดาวน์ ต้องติดตามกับผู้ซื้อให้ชำระค่างวดต่อ หากไม่ชำระหรือติดต่อไม่ได้ ก็จะนำมาสู่การฟ้องคดี ทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา ตามมา...

เงื่อนปมปัญหาต้นเหตุของคดีความนั้น...เริ่มจากผู้ขายดาวน์ต้องแจ้งกับไฟแนนซ์ เพื่อขอหนังสือมอบอำนาจ มาแจ้งความดำเนินคดีอาญากับผู้ที่ซื้อรถไป ในข้อหา “ยักยอกทรัพย์” ตาม ป.อ.ม.352...ผู้ใดครอบครองเบียดบังเอาทรัพย์ผู้อื่น มีความผิดยักยอกต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

...

เมื่อมีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้นอยู่แล้ว มีการนำรถไปขายดาวน์ต่ออีกทอดหนึ่ง หรือนำรถไปจำนำ...“บุคคลรับซื้อ” หรือ “ผู้รับจำนำ” ก็ต้องตกเป็น “รับของโจร” หากมีการขายต่อกันอีกเป็นทอดไปเรื่อยๆ คนมี “รถกรณีไว้ในครอบครอง” ก็ตกเป็นผู้ต้องหา “ร่วมกันรับของโจร” เช่นกัน

ตาม ป.อ.ม.357...ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพา ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ซึ่งทรัพย์ได้มาโดยการกระทำความผิด ลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ มีความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

สุดท้าย...ไม่สามารถติดตามรถยนต์คืนมาได้ และไม่มีใครส่งค่างวด บริษัทไฟแนนซ์ต้องมาไล่ฟ้องคดีกับคู่สัญญา ทั้งผู้เช่าซื้อรถหรือผู้ค้ำประกัน ในข้อหา “ยักยอกทรัพย์” หรือ “ฟ้องคดีทางแพ่ง” เพื่อติดตามรถเช่าซื้อไปคืนมา หรือให้ใช้ค่าเสียหายตามราคารถ

“ถ้ามีการติดตามรถมาได้ เรื่องก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้ “ผู้เช่าซื้อ” ยังมีโอกาสต้องรับผิดชอบ หากมีการนำรถขายทอดตลาด ได้ต่ำกว่าค่าเสื่อมสภาพรถ จะถูกเรียกราคาส่วนขาด ด้วยการถูกฟ้องทางแพ่งต่ออีก แต่หากได้เงินเกินกว่าราคาค่าเสื่อมสภาพของรถ ต้องคืนเงินส่วนเกินนั้นให้กับผู้เช่าซื้อรถ” คมเพชญ ว่า

...

ทำให้ปัจจุบันมี “รถหลุดจำนำ” ประกาศขายผ่านเว็บไซต์มากมาย แต่ส่วนใหญ่ก็มักเป็น “รถจำนำติดไฟแนนซ์” ที่ยังผ่อนไม่หมดที่นำมาจำนำไว้ มีหลักฐานการจำนำชัดเจน ทั้งสำเนาในเล่มทะเบียนรถยนต์ สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของรถ เอกสารโอนลอยรถยนต์ เอกสารมอบอำนาจ เพื่อยืนยันว่า “ไม่ใช่รถขโมย”

แต่เรียกกันว่ารถประเภท “รถสีเทา” เพราะรถติดไฟแนนซ์ ผู้เช่าซื้อกลับนำมาทำการซื้อขายโอนรถซ้ำซ้อนผิดสัญญาเช่าซื้อ ที่มีเจ้าของรถตัวจริง คือไฟแนนซ์ ทำให้เกิดปัญหากับคนซื้อรถหลุดจำนำติดไฟแนนซ์นี้มาใช้งาน

หากไฟแนนซ์ตามรถได้ต้องถูกยึดรถคืน และเรียกร้องขอเงินคืนกับใครไม่ได้เลย

ซ้ำร้าย...อาจถูกดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันรับของโจร” เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อมีการแจ้งความทางอาญา ก็ถือว่าการซื้อรถหลุดจำนำติดไฟแนนซ์ มีการกระทำผิดสำเร็จแล้ว ทำให้คนซื้อ ต้องยอมรับ “ความเสี่ยง” เพราะการซื้อรถราคาต่ำกว่าท้องตลาดนี้ ย่อมมองแง่ลบไว้ว่า “เป็นรถไม่ชอบมาพากล”

แต่นิยมซื้อรถหลุดจำนำกัน...มาจากราคาถูกสามารถใช้สอยได้ทั่วไป เพราะรถนี้ยังนำไปต่อทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ตามปกติ ประกอบกับรถมีสำเนาเล่มทะเบียนรถยนต์ และสัญญาเช่าซื้อ ทำให้ทำได้ง่ายมากขึ้น ยกเว้นรถคันนี้มีการแจ้งความรถหายไว้ จะต้องมาอายัดไว้ตรวจสอบ

ตามความจริงแล้ว...“ผู้ขายดาวน์” ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแจ้งไฟแนนซ์ทราบว่า ตัวเองนำรถไปขายดาวน์ เกรงเกิดปัญหาเรื่องผิดสัญญาเช่าซื้อ ที่ไม่สามารถขายโอนรถซ้ำซ้อนต่อให้ใครได้ อาจถูกยกเลิกสัญญา และถูกแจ้งความดำเนินคดียักยอกทรัพย์ และฟ้องคดีทางแพ่ง ทำให้ไม่มีใบมอบอำนาจในการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ซื้อรถไป

แม้แต่ไฟแนนซ์ก็ไม่สนใจแจ้งความตามรถ เพราะมีหน้าที่ติดตามกับบุคคลเช่าซื้อ หรือบุคคลค้ำประกันอยู่แล้ว ต้องรับผิดชอบตามสัญญา หากไม่จ่ายก็ฟ้องคดี อาจนำมาสู่การยึดทรัพย์สินขายทอดตลาดต่อไป เพราะคดีนี้ไฟแนนซ์ไม่ค่อยเจรจาให้ผ่อนชำระ แต่จะให้ “ศาล” มีคำพิพากษาบังคับคดีเลยทันที

...

สิ่งที่น่าสนใจ...กรณี “คดีเช่าซื้อรถแทรกเตอร์” มีเงื่อนไขให้นำทรัพย์สินค้ำประกันเช่าซื้อ ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนำที่นามาค้ำประกัน และใช้รถ 1 ปีก็ไม่ผ่อนค่างวด แต่กลับนำรถขายคืนกับบริษัทที่ซื้อมา...และนำรถขายทอดตลาดต่ำราคา ทำให้ไม่ได้ราคาค่าเสื่อมสภาพรถ และย้อนกลับมาเรียกร้องค่าเสียหายกับชาวนา

สุดท้ายไม่มีเงินจ่ายที่นาค้ำประกันถูกยึด และนำไปขายทอดตลาดอีก ทำให้นายทุนเข้ามาเป็นเจ้าของที่ดินนี้ ที่กำลังเกิดขึ้นในภาคอีสานหลายแห่ง สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนาอย่างมาก...

เตือนภัยกันไว้...อย่าคิดสั้น “ฝ่าฝืนสัญญา” อย่ามองหาซื้อ “ของถูกเกินไป” เพราะอาจสร้างปัญหาให้ตัวเองในอนาคต.