วันเสาร์สบายๆวันนี้ไปคุยเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกันสักหน่อย การท่องเที่ยวเป็น 1 ใน 4 เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ปีนี้คาดการณ์ว่าไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3.38 ล้านบาท ขณะเดียวกัน รัฐบาลกำหนดเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้มีสัดส่วน 22% ของจีดีพีในปี 2565 และเพิ่มเป็น 30% ของจีดีพีในปี 2580

ทุกวันนี้รายได้จากการท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในระยะสั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำรายได้ตามเป้าหมาย แต่ในระยะยาวผมยังไม่ค่อยแน่ใจ เพราะการเติบโตที่เห็นตอนนี้เป็นแค่ภาพของฝั่งดีมานด์เท่านั้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่งออกมาเที่ยวหนักๆในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ในขณะที่ต้นทุนการท่องเที่ยวของเราในฝั่งซัพพลายยังไม่มั่นคงยั่งยืนเท่าที่ควร

ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามใช้การท่องเที่ยวมาแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวหลายรูปแบบ หวังให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและกระจายรายได้ แต่ต้องยอมรับว่าแคมเปญส่วนใหญ่ที่ออกมา รวมถึงมาตรการ ชิมช้อปใช้ มีผลในเชิงการเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวและเพิ่มรายได้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น ส่วนการกระจายรายได้เป็นผลสำเร็จจริงหรือไม่นั้น ยังถือว่าคลุมเครือ เพราะผู้รับรายได้จากการท่องเที่ยวยังกระจุกตัวอยู่แค่ผู้ประกอบการ แต่ชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวยังไม่ได้รับผลพลอยได้ในสัดส่วนที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องดีที่ คุณพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศผลักดันความสำคัญของกระทรวงการท่องเที่ยวฯให้ก้าวสู่การเป็น กระทรวงเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ พร้อมนำเสนอให้กระบวนการทางการท่องเที่ยวเป็น ซัพพลายเชนที่สมบูรณ์ โดยมี องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เป็น หน่วยงานต้นน้ำ พัฒนาและปูรากฐานให้กับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อส่งต่อให้ หน่วยงานกลางน้ำ อย่าง กรมการท่องเที่ยว และ หน่วยงานปลายน้ำ คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปนำเสนอขายนักท่องเที่ยวทั่วโลก

...

ปัจจุบัน อพท.ยังคงดำเนินงานอยู่ใน 6 พื้นที่พิเศษ และมีพื้นที่ได้รับมอบหมายอีก 9 คลัสเตอร์ 32 จังหวัด รวมพื้นที่ดำเนินงานของ อพท.มีทั้งสิ้น 38 จังหวัด

เมื่อรัฐมนตรีเข้าใจภาพรวมทั้งระบบ ดึงหน่วยงานต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มาร่วมมือกันเป็นเนื้อเดียว ก็ทำให้เห็นโอกาสที่การท่องเที่ยวไทยจะเติบโตอย่างยั่งยืน

ปัจจัยสำคัญคือ การทำงานของ อพท. ที่เข้าไป วางรากฐานพัฒนาจุดแข็งของชุมชน ในด้านประเพณี วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้มีการบริหารจัดการที่ดี สร้างรายได้ลงสู่ชุมชน คนในชุมชนมีรอยยิ้ม มีความสุข และมุ่งมั่นสืบสานวัฒนธรรมประเพณี

คุณทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวในงานสัมมนา DASTA Forum 2019 “มองมิติใหม่เพื่อการท่องเที่ยวไทยที่ยั่งยืน” ว่า การทำงานในฝั่งซัพพลายเชนที่พัฒนาชุมชนให้รู้จักการจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ของตัวเอง ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และผลจากการนำองค์ความรู้ของ อพท.ไปพัฒนาด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชนในพื้นที่พิเศษในปีงบประมาณ 2562 พบว่า ชุมชนมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.14 และ ผ่านเกณฑ์ระดับความอยู่ดีมีสุข ที่ อพท.กำหนดร้อยละ 87.59 มี ดัชนีการกระจายรายได้ (Gini) เฉลี่ย 0.315 ซึ่งเป็นค่าที่ดีกว่าการกระจายรายได้ของทั้งประเทศ เป็นตัวเลขที่ยืนยันว่าการท่องเที่ยวสามารถเป็นกลไกสำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับชุมชนได้จริง

เห็นไหมครับว่าภาพของซัพพลายเชนด้านการท่องเที่ยวเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ก็อย่าลืมหลักคิดที่ว่า ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวต้องไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง จนลืมนึกถึงวิถีชีวิตที่จะทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สร้างความสุขที่แท้จริงให้กับชุมชนและนักท่องเที่ยวตลอดไป.

ลมกรด