ช่วงนี้ คงไม่มีเรื่องอะไรใน Social Media ที่ร้อนแรงมากไปกว่ากรณี #หนุ่มแว่นหัวร้อน ที่ปรากฏในคลิปซึ่งถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะและสื่อมวลชนต่างๆ โดยเนื้อหาภายในคลิปเป็นเรื่องของชายหนุ่มใส่แว่นวัย 20 ปีเศษ ขับรถป้ายแดงไปเฉี่ยวชนกับรถกระบะส่งของ แล้วมีการกล่าวถ้อยคำในทำนองดูถูกคนไทยและอวดตนว่าร่ำรวยกว่า
คลิปดังกล่าวถูกโพสต์ลงใน Facebook ส่วนตัวของหนุ่มรถกระบะคู่กรณี ซึ่งล่าสุดมีผู้เข้าไปชมคลิปดังกล่าวแล้วเกือบ 20 ล้านครั้ง ขณะที่สื่อมวลชนต่างนำเสนอข่าวนี้กันในหลายแง่หลายมุม
แต่ประเด็นหนึ่งที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ก็คือการคุกคามสิทธิส่วนบุคคล (Cyber Bullying) ของหญิงสาวที่นั่งรถไปพร้อมกับหนุ่มแว่น รวมทั้งแม่และครอบครัวของหนุ่มแว่นที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ จนกระทั่งบานปลายถึงขั้นมีฝูงชนไปชุมนุมด่าทอหนุ่มแว่นและครอบครัวที่หน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุขณะที่กำลังมีการสอบสวน
คำถามที่น่าสนใจคือ การคุกคามสิทธิส่วนบุคคลบนโลกออนไลน์ในกรณีนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร สื่อมวลชนมีส่วนทำให้การคุกคามมีความรุนแรงขึ้นหรือไม่?
โดยธรรมชาติของคนในโลกโซเชียลมีเดีย เมื่อได้พบเห็นคลิปหรือข้อความใดๆ ที่กระทบต่อจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นความขัดแย้งและมีการใช้ภาษาที่รุนแรงก็จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ดังนั้น เมื่อ “เพื่อน” ใน Facebook ของเจ้าของคลิปที่นำมาโพสต์เห็นก็มีการแชร์ต่อๆ กันไปเป็นทอดๆ หรือที่เรียกกันว่า ไวรัล (Viral)
เมื่อคลิปนี้ ถูกแชร์ต่อๆ กันมาจนมาถึงสายตาของเจ้าของเพจดังต่างๆ ใน Facebook ในที่สุดก็จะถูกสื่อมวลชนที่ส่วนใหญ่จะมีทีมคอยเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของเพจดังเหล่านี้ นำมาเสนอเป็นข่าวในทำนองว่า เป็นคลิปที่กำลังมีคนแชร์ผ่าน Social Media ต่อไปเรื่อยๆ เป็นจำนวนมากหรือที่มักใช้คำว่า “ว่อนเน็ต”
...
ต่อมาเมื่อคลิปนี้ถูกนำมาเสนอเป็นข่าว ก็ยิ่งทำให้คนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ มากขึ้น คลิปก็จะถูกแชร์ออกมาไปมากขึ้น รวมทั้งเริ่มมีคนเข้าไปขุด (Bully) ข้อมูลส่วนตัวของคู่กรณีและคนใกล้ชิด พร้อมทั้งมีการชักชวนให้เข้าไปด่าทอในเพจของผู้เกี่ยวข้องจนถึงขั้นต้องปิดบัญชีนั้นไปเลยก็มี
จากนั้น สื่อมวลชนบางส่วนก็จะนำข้อมูลที่จะมาจากการขุดของชาวเน็ตมานำเสนอเป็นข่าวอีกทอดหนึ่ง หรือสื่อมวลชนอีกบางส่วนก็ทำตัวเป็น “นักขุด” เสียเอง จนเป็นที่มาของการที่ทำให้สื่อมวลชนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ทำหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมเพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ตกเป็นข่าว
ในกรณีของหนุ่มแว่นหัวร้อนนี้ สื่อมวลชนบางส่วนก็ทำหน้าที่ติดตามข่าวอยู่ในขอบเขตเช่น ในเรื่องของดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การสัมภาษณ์หนุ่มคู่กรณีที่เป็นเจ้าของคลิปเพิ่มเติมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงเหตุการณ์ข้างเคียงที่เกี่ยวข้องเช่น ประกาศของบริษัทต้นสังกัดของหนุ่มแว่นที่ให้ออกจากงาน หรือกรณีที่พ่อของหนุ่มแว่นออกมาชี้แจง ฯลฯ
ขณะทื่สื่อมวลชนอีกจำนวนหนึ่งนำเสนอข่าวในลักษณะที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรมเช่น การตามไปถึงบ้านของหนุ่มแว่น สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านและเพื่อนบ้าน หรือนำเสนอข่าวกรณีที่มีเพจดังไปขุดดู Facebook ของหนุ่มรถกระบะคู่กรณีแล้วตั้งขอสังเกตว่า ดื่มสุราและเสพยาเสพติดขณะขับรถ เป็นต้น
แม้ว่าในระยะหลังจะมีการนำเสนอข่าวในทำนองที่ญาติของหนุ่มแว่นออกมาขอโทษสังคมแทน พร้อมทั้งวอนขอความเห็นใจว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมขอร้องว่า อย่าเข้ามาด่าญาติที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย อีกทั้งยังมีการติติงกลุ่มคนที่ไปรวมกันด่าทอหนุ่มแว่นและครอบครัวว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและสะท้อนว่า สิ่งที่หนุ่มแว่นกล่าวหาคนไทยเป็นเรื่องจริง ฯลฯ
เหตุการณ์ของกรณีหนุ่มแว่นหัวร้อนเป็นเพียงตัวอย่างของการคุกคามสิทธิส่วนบุคคลในโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย ซึ่งบางครั้งสื่อมวลชนได้เข้าไปมีส่วนทำให้การคุกคามนั้นมีความรุนแรงและขยายตัวบานปลายออกไปมากขึ้น เพราะเพียงแค่ไปหยิบเอาพฤติกรรมของการคุกคามที่เกิดขึ้นมานำเสนอต่อโดยขาดการตระหนัก หรือระมัดระวังถึงผลกระทบที่จะตามมานั่นคือ การทำให้การคุกคามเกิดความรุนแรงยิ่งขึ้น
จริงๆ แล้ว ข้อบังคับจริยธรรมและแนวปฏิบัติต่างๆ ขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้กำหนดข้อห้ามและแนวทางในการนำเสนอข่าวในลักษณะนี้ไว้ชัดเจนแล้ว แต่บางครั้งอาจจะมีการนำเสนอที่เกินเลยไป
ประกอบกับในปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่ไม่ได้นำเสนอข่าวเป็นหลักและไม่มีนักข่าวประจำ แต่ใช้วิธีไปหยิบเอาคลิปหรือโพสต์ต่างๆ ใน Social Media มานำเสนอโดยไม่ได้คำนึงว่า ขัดต่อจริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชนหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะรู้ว่าตนเองไม่ใช่สื่อมวลชนวิชาชีพ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงประเด็นทางจริยธรรม
แนวทางแก้ไขปัญหาการคุกคามสิทธิส่วนบุคคลในโลกออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่สื่อมวลชน รวมทั้งประชากรอินเทอร์เน็ตชาวไทยทั้งหลายต้องร่วมกันเรียนรู้และตระหนักว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญที่อาจส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่ถูกคุกคามได้ จึงจำเป็นที่จะต้องงดเว้นการกระทำที่เข้าข่ายการคุกคามและไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการคุกคามในทุกรูปแบบ
...
โดยผู้ที่จะมีส่วนสำคัญที่สุดในการหยุดปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน ก็คือ ความตระหนักรู้ของผู้ใช้ Social Media นั่นเอง...
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
www.twitter.com/chavarong
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หนุ่มแว่นหัวร้อน ยกมือไหว้ขอโทษ ส่งศาลเปรียบเทียบปรับเช้านี้ (คลิป)
- ชาวบ้านเดือด ฮือล้อมโรงพัก ทนไม่ได้ หนุ่มแว่นหัวร้อน จาบจ้วงสถาบัน
- คนขับกระบะเล่านาที "หนุ่มแว่นหัวร้อน" ดูถูก บังคับกราบเท้า ซ้ำพาลด่าคนอื่น
- พ่อหนุ่มแว่นหัวร้อน เผย ลูกเครียด เพราะถนนเมืองไทย ไร้น้ำใจ ไม่มีวินัย
- หนุ่มขับเก๋งชนกระบะ หัวร้อนด่ากราด ถามมีปัญญาซื้อรถเงินล้านไหม (คลิป)
- โซเชียลแฉอีก อ้างหนุ่มแว่นหัวร้อน เคยปาดหน้า ชูนิ้วกลางใส่คนบนทางด่วน
- "วัน อยู่บำรุง" โพสต์สั้นๆ ถึงหนุ่มแว่นหัวร้อน ขับรถชน ด่าเหยียดคู่กรณี
- บริษัทรับไม่ได้ "หนุ่มแว่นหัวร้อน" ขับรถชน ด่ากราดคู่กรณี ไล่ออกแล้ว
- เจ้าของบริษัทหนุ่มกระบะ เผยภาคต่อคลิป คนรวยหัวร้อนด่ากราด ยันโต้คนดี ไม่ไล่ออก
- ทูตไทยในกรุงเฮลซิงกิ เผย หนุ่มแว่นหัวร้อน ไม่เกี่ยวข้องกับเลขานุการโท
- "จ่าพิชิต" ดึงสติไทยมุง แน่นโรงพัก ดูหน้าหนุ่มแว่นหัวร้อน
...