วันที่ 19 ตุลาคม 2562 ที่ โรงแรมไมด้า ทวารวดี แกรนด์ นครปฐม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการงานประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 2 เพื่ออบรมเสริมทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพให้เยาวชน 18 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการประกวด ThaiHealth Inno Awards 2019
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 กล่าวว่า รายงานการศึกษาภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย ปี 2557 ระบุว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย โดยมีคนไทยเสียชีวิตปีละกว่า 368,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนคนไทย 10 คน เสียชีวิตด้วยโรค NCDs 8 คน และคาดว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในทุกปี ปัจจุบันหลายหน่วยงานได้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ เพื่อแก้ปัญหาสังคมในด้านต่างๆ เช่นเดียวกับ สสส. ได้พัฒนายุทธศาสตร์เฉพาะสำหรับการทำงาน ปี 2561-2563 ที่กำหนดให้พัฒนานวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพและนวัตกรรมทางสังคม เกิดเป็นโครงการ ThaiHealth Inno Awards ครั้งที่1 ปี 2561 โดยความร่วมมือกับมูลนิธิวายไอวาย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนไทย ในการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันการเกิดปัจจัยเสี่ยงคร่าชีวิตคนไทย
“สสส.เชื่อว่าการสนับสนุนให้เยาวชนลุกขึ้นมาสำรวจปัญหาและร่วมแก้ไข คือการผลิต Active Citizen หรือคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังความคิดสร้าง นำ ซ่อมสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ อันเป็นหนึ่งในความยั่งยืนของการแก้ปัญหาสุขภาพอย่างแท้จริง” นพ.วีระพันธ์ กล่าว
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนงานนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า กิจกรรมสำคัญภายในโครงการ ThaiHealth Inno Awards 2019 คือการ Workshop พัฒนาทักษะนวัตกรให้กับทีมเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดยในปีนี้มีทีมระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้ารอบ 10 ทีม และระดับอาชีวศึกษา 8 ทีม ตลอดทั้ง 3 วันมีวิทยากรหลายท่านมาให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพ การออกแบบและพัฒนานวัตกรรมตามหลัก Design Thinking การฝึกทักษะการนำเสนอผลงาน การจัดทำแผนการดำเนินงาน และพัฒนาผลงานนวัตกรรมให้เสร็จสมบูรณ์พร้อมส่งผลงานเข้าประกวดในรอบชิงชนะเลิศภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 และประกาศผลทีมชนะเลิศทั้งสองระดับในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563
“ผลงานของทีมเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบในครั้งนี้มีความหลากหลายมาก เช่น ผลงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารปลอดภัย เกษตรปลอดภัย กระบวนการส่งเสริมสุขภาพ การส่งเสริมการออกกำลังกาย อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน และอุปกรณ์บำบัดฟื้นฟูสุขภาพ เป็นต้น ซึ่ง สสส.หวังว่าโครงการประกวดครั้งที่ 2 นี้จะช่วยสร้างความเข้าใจ เปิดมุมมอง และสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับแนวทางการทำงานสร้างเสริมสุขภาพให้กับนวัตกรรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งได้ผลงานต้นแบบนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงเป็นจำนวนมาก หลังจากที่มีผลงานนวัตกรรมจากโครงการประกวดครั้งที่ 1 หลายชิ้น ที่ได้ถูกพัฒนาและนำไปใช้จริง ทั้งการต่อยอดของกลุ่มนักเรียน และการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น ผลงานนวัตกรรม NPK EASY 5 กิจกรรมพัฒนาชุมชนหนองป่าครั่ง ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยในปัจจุบันหนองป่าครั่งกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การทำเกษตรในพื้นที่จำกัด ขณะที่ผลงานนวัตกรรมเสาหลักจากยางพาราเพื่อมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน ได้รับการติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์จากบริษัทเอกชนและอยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงในอนาคต” ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว