ประเทศไทยมีแรงงานในเกษตรกรรม 32.3% หรือประมาณ 22 ล้านคน...ญี่ปุ่นมีประชากร 124 ล้านคน มีเกษตรกรแค่เพียง 1% หรือล้านกว่าคน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้สูงอายุ
แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรรายละ 1 เฮกแตร์ (6.25 ไร่) แต่ก็ไม่มีใครอยากจะเป็นชาวนา
ด้วยเหตุนี้เครื่องจักรกลส่วนใหญ่ที่ผลิตจำหน่ายในญี่ปุ่น จึงมีขนาดเล็กเพื่อใช้งานได้เหมาะสมกับพื้นที่...เห็นได้จากเครื่องจักรกลทดแทนแรงงานคนของ ยันม่าร์ จะเป็นแทรกเตอร์ขนาดเล็ก ตั้งแต่ 39-72 แรงม้า รถดำนารุ่น 6 แถว กับ 8 แถว รถเกี่ยวข้าวขนาด 84.5-118 แรงม้า เครื่องยนต์อเนกประสงค์ มีแค่ขนาด 8.5-11.5 แรงม้า กับขนาด 9-15 แรงม้า
หลังจากผลิตเครื่องจักรกลให้เกษตรกรญี่ปุ่นใช้มาช้านานเป็น 100 ปี จนทุกครัวเรือนมีใช้กันทั่วหน้าจนอิ่มตัว นับจากนี้ไปอีก 100 ปีข้างหน้า ยันม่าร์ มีแผนจะขยายการทำตลาดในต่างประเทศให้มากขึ้น
จากเดิมเคยผลิตจำหน่ายในประเทศ 50% ส่งออก 50% จะลดการจำหน่ายในประเทศเหลือแค่ 20% เพิ่มการส่งออกเป็น 80% เน้นตลาดหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต พร้อมกับปรับกำลังขนาดของเครื่องจักรกลให้ใหญ่ขึ้น ให้เหมาะสมกับการทำเกษตรของแต่ละประเทศ
แต่ยังคงจะเน้นเรื่องใช้แรงงานคนให้น้อยที่สุด แต่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ผลิตเครื่องจักรกลที่สามารถทำงานในแปลงเกษตรได้โดยอัตโนมัติ แบบการันตีคุณภาพ
เพราะได้จับมือกับมหาวิทยาลัยฮอกไกโด พัฒนาโรบอตแทรกเตอร์ที่ไร้คนขับควบคุมจากระยะไกล คนเดียวสามารถควบคุมแทรกเตอร์ 2 คันได้ในเวลาเดียวกัน แบบไม่ต้องกลัวมีอุบัติเหตุ ซึ่งได้จำหน่ายในญี่ปุ่นไปเมื่อเดือนที่แล้ว และมีการนำมาทดสอบในไทยเรียบร้อยแล้ว
...
นอกจากนี้ยังพัฒนาเครื่องมืออัตโนมัติ เช่น รถหว่านเมล็ดข้าว รถปักดำนา โดรนพ่นยา อุปกรณ์คัดแยกผลไม้ อุปกรณ์สำหรับทางการเกษตร ฯลฯ ล่าสุดกำลังทดสอบความแม่นยำของรถเกี่ยวข้าวไร้คนขับ.
สะ–เล–เต