ที่ผ่านมาได้มีการสังเคราะห์ Cry (Bt) แบคทีเรียในดิน เพื่อให้ผลิตโปรตีนที่มีฤทธิ์กำจัดแมลงศัตรูพืช แล้วนำมาใส่ในพืช

ทำให้พืชเศรษฐกิจหลายชนิด ข้าวโพด ถั่วเหลือง และฝ้าย ต้านทานต่อหนอนศัตรูพืชในกลุ่ม Lepidopteran ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

แต่อ้อยยังไม่มีการวิจัยชนิดเดียวกันนี้ ทำให้หนอนเจาะลำต้นอ้อย Diatraeasaccharalis ยังคงเป็นหนอนศัตรูอ้อยตัวฉกาจในประเทศบราซิล สร้างความสูญเสียคิดเป็นมูลค่ามากกว่าปีละ 1 พันล้านดอลลาร์

เหตุนี้เองช่วงไม่กี่ปีก่อนได้มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยดัดแปลงพันธุกรรม จนได้อ้อยพันธุ์ CTC20BT ที่มีโปรตีน Cry1Ab ที่มีความต้านทานต่อหนอนเจาะลำต้นอ้อย

ถือเป็นอ้อยดัดแปลงพันธุกรรมพันธุ์แรกของโลกที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกเชิงการค้า

และกลางปี 2560 ได้รับอนุญาตให้ปลูกเชิงการค้าได้ จากหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของบราซิล (Brazilian Biosafety Authority) พร้อมกับได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยของอาหารแคนาดา (Health Canada) และสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA-US)

ยืนยันว่า อ้อยดัดแปลงพันธุกรรมพันธุ์นี้ มีความปลอดภัยในการบริโภคของมนุษย์

ล่าสุดในการประชุม International Society of Sugarcane Technologist. ณ เมือง Tucuman อาร์เจนตินา เมื่อ 31 สิงหาคม-8 กันยายนที่ผ่านมา มีข่าวว่า บราซิลเตรียมที่จะปลูกอ้อยพันธุ์นี้แล้ว แต่ยังไม่มีรายงานปริมาณหรือพื้นที่ปลูกที่แน่ชัด

ปัจจุบันบราซิลส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ในขณะที่ยังไม่ได้ปลูกอ้อยพันธุ์นี้ด้วยซ้ำ แล้วยิ่งมาใช้อ้อยพันธุ์นี้อีก จะส่งผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยไทยแค่ไหน... เอ็นจีโอคงไม่มีคำตอบ.

...