เกษตรกรไทยมักประสบปัญหากับวังวนเดิมๆ พอพืชตัวไหนราคาตกก็เลิกปลูก หันไปปลูกพืชตัวอื่นที่ได้ราคาดี พอเลิกปลูก ผลผลิตน้อยลง ราคาเริ่มพุ่งสูงขึ้น ส่วนที่คนแห่กันปลูกใหม่ ราคาดิ่งลงสวนทาง เป็นเช่นนี้ไม่มีวันจบสิ้น เพราะขาดการวางแผนการผลิตที่ดี

สถานการณ์สับปะรดเป็นตัวยืนยันได้เป็นอย่างดี ราคาเฉลี่ย ม.ค.–ส.ค. 62 กก.ละ 5.29 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 79.32%

สาเหตุหลักเนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ตั้งแต่ พ.ค.60-ก.ค.61 ลดลงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น บางส่วนปล่อยทิ้งไม่ดูแล เกษตรกรรายใหม่ยกเลิกพื้นที่เช่าปลูกคืนให้นายทุน ประจวบเหมาะกับพื้นที่ปลูกส่วนหนึ่งประสบภาวะภัยแล้ง

ตัวเลขของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) บอกถึงสถานการณ์สับปะรดโรงงานปี 2562 คาดว่ามีเนื้อที่เก็บเกี่ยวรวมทั้งประเทศ 480,680 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 14% ให้ผลผลิตรวม 1.68 ล้านตัน ลดลง 28%

แม้ผลผลิตน้อย ราคามีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ค.ที่ผ่านมา แต่เกษตรกรไม่ควรประมาท เพราะโรงงานแปรรูปยังคงต้องผลิตตามภาวะตลาดโลกที่ยังชะลอตัว ส่งผลให้ราคายังคงมีความผันผวนสูง

ดังนั้น เกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูก ยังไม่ควรขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่อยู่ไกลโรงงานแปรรูปสับปะรด แต่หากไม่ห่างไกลโรงงานแปรรูป แต่มีศักยภาพผลิตเพื่อส่งเข้าโรงงาน ก็ควรมีการทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายกับโรงงาน

ส่วนจังหวัดที่มีศักยภาพในการผลิตสับปะรดบริโภคสด ควรลดพื้นที่ปลูกสับปะรดโรงงานในพื้นที่ไม่เหมาะสม และเปลี่ยนไปปลูกสับปะรดสดหรือพืชชนิดอื่นที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่แทน ทางที่ปลอดภัยสุด ควรเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ให้มากขึ้น ลดความเสี่ยงด้านราคา.

...