“อุตตม” รอดูผลใช้จ่าย “ชิม ช้อป ใช้” ก่อนตัดสินใจเคาะเฟส 2 เดือน ต.ค. สศค.ชี้หากผู้ลงทะเบียนยังไม่ครบ 10 ล้านราย ลงทะเบียนได้ใหม่จนครบ คาดจบมาตรการมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 60,000 ล้านบาท ดันจีดีพีโต 0.3% แนะยืนยันตัวตนผ่านแอป “เป๋าตัง” ไม่ต้องใช้แอปแต่งภาพ กรมการค้าภายในเตือนร้านค้าหรือผู้ให้บริการในโครงการชิม ช้อป ใช้ ห้ามฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าฝ่าฝืนถูกจับปรับและมีโทษจำคุก
รัฐบาลเตรียมแจก ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 โดยนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะขยาย มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว “ชิม ช้อป ใช้” ระยะที่ 2 หรือเฟส 2 หรือไม่ เนื่องจากกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างติดตามผลของมาตรการ คาดว่าภายในเดือน ต.ค.จะได้ข้อสรุปชัดเจน นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เพราะถ้าหากจะเปิดโครงการ ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 ต้องพิจารณาว่า ประชาชนที่ลงทะเบียน 10 ล้านรายแรก ได้รับสิทธิ์ ครบถ้วนแล้วหรือยัง หากเปิดเฟส 2 จะให้สิทธิ์ กับประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ก่อนหน้านี้หรือไม่ รวมถึงวงเงิน ยังจะให้คนละ 1,000 บาทเหมือนเดิมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มาตรการชิม ช้อป ใช้ เพิ่งเริ่มมีการใช้จ่ายเพียงไม่กี่วัน จึงจำเป็นต้องรอผลของมาตรการว่าสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในช่วง 10 วันแรก ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.-1 ต.ค.2562 มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์มาตรการชิม ช้อป ใช้ เต็มตามโควตา 1 ล้านรายทุกวัน โดยวันที่ 2 ต.ค.มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ครบ 1 ล้านรายตั้งแต่เวลา 03.06 น. เร็วกว่าเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งครบ 1 ล้านรายในเวลา 03.14 น. ในจำนวนนี้มีผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านวันละประมาณ 200,000 ราย หรือจำนวน 2 ล้านรายจากช่วง 10 วันแรก ดังนั้น ประชาชนทั่วไปและประชาชนที่ลงทะเบียนไปแล้วแต่ไม่ผ่านการพิจารณา ลงทะเบียนได้ใหม่เพื่อให้ครบ 10 ล้านราย หรือจนถึงวันที่ 15 พ.ย.
...
นายลวรณกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ มาตรการชิม ช้อป ใช้ จะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปลายปีประมาณ 60,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเพิ่มขึ้น 0.2-0.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ทำให้ตลอดทั้งปีขยายตัวได้ 3% อย่างแน่นอน สำหรับจังหวัดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ 87 ล้านบาท 2.ชลบุรี 48 ล้านบาท 3.สมุทรปราการ 29 ล้านบาท 4.ระยอง 20 ล้านบาท 5.ปทุมธานี 20 ล้านบาท 6.พระนครศรีอยุธยา 19 ล้านบาท 7.ลำพูน 18 ล้านบาท 8.เชียงใหม่ 17 ล้านบาท 9.นครปฐม 17 ล้านบาท และ 10.นนทบุรี 15 ล้านบาท โดยกลุ่มที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 22-30 ปี ประมาณ 35% รองลงมาคือช่วงอายุ 31-40 ปี ประมาณ 30%
ผอ.สศค.กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาเรื่องการยืนยันตัวตน พบว่าส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับแสงที่อาจสว่างเกินไป หรือผิดตำแหน่งในขณะถ่ายภาพ รวมทั้งการถ่ายโดยใช้แอปพลิเคชันตกแต่งภาพ ทำให้ภาพสวยเกินไปไม่เหมือนกับบัตรประชาชน ที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จวันละกว่า 5,000 ราย และมีผู้ไปยืนยันตัวตนผ่านธนาคารแล้วกว่า 200,000 ราย ขณะนี้ธนาคารกรุงไทยอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบการยืนยันตัวตนให้รวดเร็วขึ้น คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 วัน
ขณะที่นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขอเตือนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการชิม ช้อป ใช้ ห้ามฉวยโอกาสขึ้นราคาขายสินค้าและบริการกับผู้ที่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการจำนวน 10 ล้านคน หากมีประชาชนร้องเรียนมาว่ามีการฉวยโอกาส หรือไม่ติดป้ายแสดงราคาสินค้าและบริการ จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ หากพบว่ามีความผิดจริงจะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที ทั้งนี้ การขึ้นราคาสินค้าโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ติด ป้ายแสดงราคามีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท เป็นต้น
“กรมให้ความสำคัญในการดูแลราคาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของราคาสินค้าที่เข้าร่วมโครงการชิม ช้อป ใช้ เท่านั้น แต่จะมีการติดตามและตรวจสอบราคาสินค้าทั่วไปเป็นประจำอยู่แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าและบริการ จากการตรวจสอบพบว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจำหน่ายในราคาปกติ หลายร้านลดราคาขายเพื่อจูงใจผู้บริโภคและลดภาระเรื่องของสต๊อกที่ค้างอยู่” นายวัฒนศักย์กล่าว