หลังบริษัทเอกชน ได้นำลูกซัดมาให้ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำการพัฒนาแปรรูปเป็นแคปซูลเร่งน้ำนมให้มารดาหลังคลอดบุตร แต่หลังแปรรูปได้สำเร็จ สังเกตเห็นคนงานล้างทำความสะอาดเครื่องบดเมล็ดลูกซัด ผิวมือมีความละเอียดและนุ่มนวล ด้วยความสงสัยใคร่รู้ว่าในลูกซัดมีสารชนิดใด มีผลกับสภาพผิว กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง นาโนเทค จึงวิจัยศึกษาสารสำคัญในลูกซัด

น.ส.วลีวัลย์ เอกนัยน์ ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน เผยถึงผลการศึกษาพบว่าในลูกซัดมีสารรูติน (Rutin) ช่วยยับยั้งการเสื่อมสลายคอลลาเจน ช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้น ซ่อมแซมผิวที่เสื่อมสภาพ เทียบเท่ากับโปรตีนไหม (Sericin) ที่มีอยู่ในกาวไหม

“ลูกซัดจะแบ่งเป็น 2 เกรด ถ้านำมาใช้ในกลุ่มเครื่องเทศประกอบอาหาร ต้องใช้ลูกซัดที่มีอายุการปลูกถึงระยะเก็บฝักที่อายุ 3-4 เดือน และลูกซัดเกรดที่นำมาทำยา จะเก็บฝักอายุ 6 เดือน เพราะเป็นระยะที่เมล็ดลูกซัดจะมีปริมาณสารรูตินเข้มข้น เมล็ดลูกซัดที่แก่จัด 1 กก. นำมาสกัดด้วยเอทานอล ในระยะเวลา 15 วัน จะได้ปริมาณสารรูติน 70 กรัม”

...

น.ส.วลีวัลย์ บอกอีกว่า เพื่อให้อนุภาคสารสกัดมีความคงตัว ในสภาพอุณหภูมิห้อง เพิ่มประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ ชะลอการปลดปล่อยสารสำคัญขณะเก็บในบรรจุภัณฑ์ ทีมวิจัยจึงนำเทคโนโลยีนาโน-เอนแคปซูเลชัน (Nano-encapsulation) มาช่วยทำหน้าที่กักเก็บสารสำคัญในรูปอนุภาคลิโปนิโอโซม ช่วยในการยับยั้งเอนไซม์คอลาจีเนส จากนั้นนำมาผสมกับส่วนผสมชนิดอื่นๆ แปรรูปเป็นเซรั่มบำรุงผิว

เมื่อนำไปให้กลุ่มอาสาสมัคร รพ.ภูมิพลอดุลยเดช และศูนย์วิจัยพัฒนาและทดสอบเวชสำอาง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ทดสอบระยะเวลา 30 วัน ผลการตรวจสอบสภาพผิวด้วยเครื่องวัดความยืดหยุ่นผิวหนัง (ELASTICITY) พบว่าไม่เกิดการระคายเคือง สภาพผิวมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้น และเพื่อเพิ่มมูลค่าพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งยังไม่มีที่ใดผลิตมาก่อน ทีมวิจัยจึงยกระดับการผลิตจากห้องปฏิบัติการวิจัยสู่การผลิตเซรั่มที่มีเนื้อบางเบา ในโรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ภายใต้แบรนด์ เฮอบีสต้า เซรั่ม (HERBISTHA Serum)