เมืองนวัตกรรมชีวภาพ
“โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี” แห่งแรกในอาเซียนถือกำเนิดขึ้นแล้ว ถือเป็นก้าวแรกของ “เมืองนวัตกรรม” ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซีไอ หลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ อนุมัติให้ความเห็นชอบงบประมาณ จำนวน 3,400 ล้านบาท เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2562 โดยมี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการอีอีซีไอและรับผิดชอบโครงการนี้
โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีด้านชีวภาพของประเทศไทยให้เป็น “ฮับไบโอเบส” ของอาเซียน เพราะประเทศไทยมีต้นทุนสำคัญคือ ทรัพยากรชีวภาพ มากเป็นอันดับ 6 ของโลก
“โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี คือ โรงงานที่ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเคมี และชีวภาพในการเปลี่ยนวัสดุทางไบโอเบส หรือชีวภาพ ให้เป็นสารออกฤทธิ์ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ใช้ชานอ้อยเพื่อดึงเซลลูโลสและลิกนิน ออกมาใช้ประโยชน์ เป็นต้น โรงงานต้นแบบนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) โดยจะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศที่สร้างมูลค่ากว่า 4.3 ล้านล้านบาท (25% GDP) ใน 5 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายด้านพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ อาหาร และสารชีวภาพที่ให้คุณสมบัติพิเศษสำหรับนำไปผลิตเป็นอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอางและยา
...
โดยหลักสำคัญของอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี คือ การให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งเกิดจากการนำวัตถุดิบที่เป็นทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาน้อยกว่าการผลิตจากปิโตรเลียม ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี เพื่อเป็นกลไกสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยข้อได้เปรียบที่สำคัญ คือ ความพร้อมของวัตถุดิบตั้งต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบในกลุ่มแป้ง น้ำตาล และวัสดุเหลือทิ้งการเกษตรที่เป็นเซลลูโลสที่มีเป็นจำนวนมาก” ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สวทช.ในฐานะผู้รับผิดชอบ กล่าวถึงความสำคัญของโรงงานต้นแบบ ที่จะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่กว่า 3,455 ไร่นี้ของวังจันทร์วัลเลย์ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยองในอีอีซีไอ
โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โรงงานมาตรฐาน GMP และโรงงาน Non GMP ซึ่งจะสร้างพร้อมกันในปี 2563 ทั้งนี้ ในส่วนของโรงงานมาตรฐาน GMP จะเน้นในการนำผลผลิตทางการเกษตรผลิตสารอาหารฟู้ดฟังก์ชัน อาหารเสริม สุขภาพ อาหารทางการแพทย์ มาผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง ส่วน Non GMP จะผลิตสารเคมีชีวภาพ วัสดุชีวภาพ พลาสติกชีวภาพที่มีหลากหลายชนิด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทยมากกว่าการนำไปแปรรูปเป็นสินค้าขั้นต้น เช่น นำอ้อยมาผลิตน้ำตาล นำข้าวมาผลิตเป็นแป้ง เป็นต้น
ที่สำคัญ โรงงานแห่งนี้จะทำให้เกิดการต่อยอดจากงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการไปสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมโรงงานต้นแบบเพื่อทดลองตลาด ซึ่งหากประสบความสำเร็จผู้ประกอบการก็จะไปลงทุนสร้างโรงงานเพื่อผลิตสินค้าในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายต่อไป
“ประเทศไทยมีของเสียอยู่ในระบบประมาณ 40 ล้านตันที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หากอุตสาห-กรรมไบโอรีไฟเนอรีเกิดขึ้น ของเสียเหล่านี้คือ วัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตต่อให้เกิดอุตสาห-กรรมใหม่ๆ เช่น ปัจจุบันราคาน้ำตาลตกลงค่อน ข้างมาก ในช่วงเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมา เพราะคนบริโภคน้ำตาลน้อยลง เราสามารถเอาน้ำตาลเหล่านี้มาผลิตเป็นสารอื่นๆ เพื่อให้มูลค่าที่สูงขึ้นได้ ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่าไบโอรีไฟเนอรี ที่สำคัญผลของการลงทุนโรงงานต้นแบบครั้งนี้จะเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุนของภาคเอกชน ทำให้เอกชนเชื่อมั่นในเทคโนโลยีและโอกาสทางการตลาดเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนเพิ่ม เกิดการสร้างตลาดและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น ยังนำไปสู่การสร้างความสามารถในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากฐานชีวภาพของตนเอง จากเดิมที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่ต่างประเทศเป็นผู้กำหนด” ผอ.สวทช.ระบุ
สวทช.ยังมีแนวความคิดที่จะดึงไบโอเบสยุโรป เข้ามาร่วมมือโดยตั้งเป็นไบโอเบสเอเชีย ที่จะทำธุรกิจนี้ในภูมิภาคเอเชียและอาจจะจับมือกันไปในภูมิภาคอื่นอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์เป้าหมายในระยะแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ วัสดุชีวภาพ กลุ่มอาหารสัตว์เพื่ออนาคต กลุ่มอาหารเพื่ออนาคต และกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางด้านเภสัชภัณฑ์
“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่า โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี คือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องไปใช้บริการของโรงงานต้นแบบในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ความพร้อมของเครื่องมือ และมีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ เช่น GMP เป็นต้น ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงจึงจำเป็นต้องเลือกทำในบางผลิตภัณฑ์ ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทขนาดกลางหรือขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน จึงไม่มีโอกาสที่จะผลักดันผลิตภัณฑ์ไบโอรีไฟเนอรีชนิดใหม่ๆเข้าสู่ตลาด
...
ดังนั้น นี่คือก้าวแรกที่สำคัญของประเทศไทย ในการนำเทคโนโลยีแบบพลิกโฉมฉับพลันมาผลักดันให้ผลงานวิจัยได้รับการต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างก้าวกระโดด
ถือเป็นอภิมหาโปรเจกต์หนึ่งเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลางไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง.
ทีมข่าววิทยาศาสตร์