นายประวีณ ณ นคร อดีตเลขาธิการ ก.พ. ปรมาจารย์ด้านวินัยและคุณธรรมในราชการพลเรือน ได้จัดทำแผนพัฒนาข้าราชการพลเรือนเป็นคนดี ออกมาเผยแพร่เป็นเอกสารที่มีค่ามากในวงราชการ

อาจารย์ประวีณ กล่าวอารัมภบทในเอกสารแผนเล่มนี้ว่า หลักสำคัญในการบริหารทรัพยากรบุคคลสำหรับข้าราชการพลเรือนคือ การดำเนินการให้ข้าราชการพลเรือนเป็นคนเก่งและคนดี ที่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ

“คน เก่ง” สำหรับข้าราชการคือ คนที่มีสมรรถนะ (Competency) คือ มีความสามารถ มีปัญญา (Wisdom) คือ มีความรู้ มีทักษะ (Skill) คือ มีความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ มีประสบการณ์ (Experience) คือ มีความชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเกิดจากการได้พบเห็นมาหรือได้ทำมา

“คน ดี” สำหรับข้าราชการคือ คนที่มีคุณธรรม (Virtue) คือ มีความดีงามในจิตใจ ซึ่งทำให้เคยชินประพฤติดี มีจริยธรรม (Ethics) คือ มีจิตสำนึก

ในความถูกต้องเหมาะสม และมีพฤติกรรมตามมาตรฐานในสังคม มีจรรยา (Etiquette) คือ มีจิตสำนึกในความถูกต้องเหมาะสม และมีพฤติกรรมตามมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ มีวินัย (Discipline) คือ มีการควบคุมตนเองให้ปฏิบัติตามแบบของข้าราชการที่ดี

การดำเนินการให้ข้าราชการพลเรือนเป็นคนเก่ง มีแนวทางที่ดำเนินการเป็นปกติธุระอยู่แล้วซึ่งไม่ยากนัก แต่การดำเนินการให้ข้าราชการพลเรือนเป็นคนดี ยังมีแนวทางดำเนินการที่ไม่ชัดเจน และดำเนินการได้ยากกว่า จึงขอนำเสนอ “แผนพัฒนาข้าราชการพลเรือนให้เป็นคนดี” เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการที่เห็นสมควร

“แผนพัฒนาข้าราชการพลเรือนเป็นคนดี” ที่นำเสนอนี้ได้เขียนวิธีดำเนินการไว้ด้วย เพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนและให้ความสะดวกแก่ผู้นำไปวางแผนปฏิบัติที่จะได้มองเห็นแนวทางดำเนินการโดยไม่ต้องคิดหาแนวทางอีกชั้นหนึ่ง ผู้วางแผนปฏิบัติเพียงแต่นำไปวางแผนปฏิบัติโดยเพิ่มเติมกำหนดเวลาดำเนินการ การใช้กำลังคน งบประมาณค่าใช้จ่าย และวิธีดำเนินการในรายละเอียดบางอย่าง ก็เป็นแผนปฏิบัติที่สมบูรณ์ใช้ได้แล้ว

...

ในการจัดทำแผนพัฒนาข้าราชการพลเรือนเป็นคนดีนี้ได้วางแนวความคิดหลัก (KEY CONCEPT) ในการสร้างคนดีดังนี้

แนวความคิดหลัก (KEY CONCEPT) ที่เสนอนี้คือเสนอว่าการที่ข้าราชการจะเป็นคนดี คุณธรรม จริยธรรม จรรยา และวินัยดีหรือไม่เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพ 2 ด้านประกอบกัน คือ สภาพพื้นฐานของบุคคล และ สภาพแวดล้อมบุคคล

สภาพพื้นฐานของบุคคล หมายถึง สภาพที่เป็นอยู่ในตัวบุคคลแต่ละคนมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งอาจจำแนกพื้นฐาน หรือภูมิที่สำคัญได้ 4 ประการ คือ 1.ภูมินิสัย หมายถึง ลักษณะนิสัยเดิมของบุคคล 2.ภูมิปัญญา หมายถึง ความรอบรู้ของบุคคลในเรื่องอันพึงปฏิบัติและพึงงดเว้น 3.ภูมิคติ หมายถึง ทัศนคติของบุคคลที่มีความรู้สึกต่อการเป็นข้าราชการว่าเป็นอะไร เป็นทำไม และควรเป็นอย่างไร 4.ภูมิธรรม หมายถึง พื้นจิตใจที่มีคุณธรรมของบุคคล

สภาพแวดล้อมบุคคล หมายถึง สภาพแวดล้อมที่มีผลผลักดันหรือโน้มนำพฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปตาม หรือเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพนั้น ซึ่งอาจจำแนกปัจจัยแวดล้อมบุคคลที่สำคัญได้ 4 ประการ คือ

1.ปัจจัยแวดล้อมทางการเมือง ได้แก่ นโยบายและพฤติกรรมทางการเมืองที่มีผลต่อพฤติกรรมของข้าราชการ

2.ปัจจัยแวดล้อมทางการบริหาร ได้แก่ ระบบและวิธีการบริหารราชการที่มีผลต่อพฤติกรรมของข้าราชการ

3.ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สภาพการครองชีพที่มีผลต่อพฤติกรรมของข้าราชการ

4.ปัจจัยแวดล้อมทางสังคม ได้แก่ พฤติกรรมในสังคมที่มีผลต่อพฤติกรรมของข้าราชการ

เอกสารเล่มนี้มีรายละเอียดข้อเสนอเกี่ยวกับสภาพ มาตรการ แผนงาน และโครงการไว้ครบถ้วน หากส่วนราชการใดสนใจโปรดติดต่อที่สำนักงาน ก.พ. คงพอจะขอแบ่งปันไปทำประโยชน์ได้.

“ซี.12”