ภายหลังจากที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นำเสนอให้มีการเปลี่ยนรถตู้โดยสารประจำทาง เป็นรถไมโครบัส ด้วยระบบสมัครใจ ไม่ใช้มาตรการบังคับ เปลี่ยนพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งต้องมีการจัดซื้อรถไมโครบัสคราวเดียว มากกว่า 10,000 คัน มูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาทจนก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงกันมากมายนั้น โดยมีการหยิบยกประเด็นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถตู้โดยสารฯ มาเปรียบเทียบกับรถไมโครบัส และเปิดประเด็นถล่ม รมว.คมนาคม ไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพของประชาชน
ในขณะที่ "นายศักดิ์สยาม" ให้เหตุผลว่า การบังคับเปลี่ยนพร้อมกันในคราวเดียว อาจจะทำให้รถในระบบไม่พอให้บริการประชาชน เพราะผู้ประกอบการไม่มีกำลังซื้อรถไมโครบัส จำนวนหนึ่งต้องเลิกอาชีพ หรือออกไปขับนอกระบบ กลับไปสู่ระบบรถเถื่อนเหมือนในอดีตซ้ำอีก อีกทั้งการจัดหารถไมโครบัส 10,000 คัน ในเวลาอันจำกัดนั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาระบบริหารจัดการ โดยเฉพาะระบบซ่อมบำรุง อุปกรณ์ และอะไหล่ มารองรับให้พร้อม เพื่อให้การเดินรถบริการประชาชนไม่สะดุดหรือติดขัด"
ทั้งนี้ บนความขัดแย้งทางความคิด ที่สวนทางกันเช่นนี้ โดยมีเรื่องความเดือดร้อนและความปลอดภัยของประชาชนเป็นเครื่องต่อรอง และมีผลประโยชน์มากกว่า 20,000 ล้านบาท เป็นเดิมพัน จึงทำให้แนวคิดการเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส ได้รับความสนใจอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อ รมว.คมนาคม อย่างหนัก
...
จนกระทั่งนำมาสู่การพิจารณาและนำเสนอให้มีการศึกษาผลกระทบทุกๆ มิติ ทั้งการให้บริการประชาชน มาตรฐานความปลอดภัย และความคุ้มค่าทางการลงทุนของผู้ประกอบการกันอีกครั้ง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นตัวแปรที่ทำให้การศึกษาการเปลี่ยนแปลงรถตู้เป็นไมโครบัส ต้องนำมาพิจารณากันอีกครั้ง เพราะการลงทุนเพิ่มของผู้ประกอบการ อาจจะส่งผลให้อัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้น และอาจจะทำให้จำนวนรถให้บริการลดลงได้ในระยะยาว
โดยล่าสุดมีรายงานจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า นายศักดิ์สยาม มีข้อเสนอในขณะนี้ คือ น่าจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ การเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัสด้วยรูปแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้กันอีกครั้ง พร้อมทั้งควรจัดทำในรูปของเวิร์กช็อปหรือประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ ภาควิชาการ และภาครัฐ เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมที่สุด เพราะเรื่องนี้กระทบต่อประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนที่ใช้รถสาธารณะ
ทั้งนี้ ในระหว่างที่ทำการศึกษา ก็ให้ชะลอเวลาการบังคับให้เปลี่ยนรถจากกรอบเดิมออกไปอีกสัก 180 วัน ซึ่ง รมว.คมนาคม ไม่ห้ามเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส หากใครพร้อมเปลี่ยนเพื่อการบริการที่ดีกว่าก็เปลี่ยนได้เลย ส่วนใครยังไม่พร้อม ก็ใช้รถตู้แบบเดิมได้ต่อไป แต่ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของกรมการขนส่งทางบก และต้องยอมรับสภาพหากประชาชนไม่ใช้บริการ เพราะไม่เชื่อถือรถตู้ แต่เชื่อไมโครบัสมากกว่า ซึ่งข้อเสนอของ รมว.คมนาคม เป็นเพียงมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการบางส่วนเท่านั้น
"ไม่ว่าจะต้องเปลี่ยนรถด้วยระบบสมัครใจหรือระบบบังคับก็ตาม สิ่งที่ต้องใช้มาตรการบังคับให้เปลี่ยนโดยไม่ละเว้น ก็คือพฤติกรรมของคนขับรถสาธารณะ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎแห่งความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด การขับเร็ว การทำรอบ การดื่มแอลกอฮอล์ การพักผ่อนน้อยไม่เพียงพอต้องไม่มี และพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องตรวจสอบรถทุกคันและคนขับรถทุกคนอย่างเข้มงวด ไม่มีการละเว้น และต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน" แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุชัดเจน
ทั่งนี้เชื่อว่า แนวทางดังกล่าวนี้ จะช่วยเหลือผู้ประกอบการรถตู้ที่ยังไม่พร้อมในสภาวะเศรษฐกิจซบเซา โดยไม่ปิดกั้นผู้ประกอบการที่อยากจะเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสเพื่อยกระดับบริการ ขณะเดียวกันประชาชนก็มีความมั่นใจมาตรการความปลอดภัย ที่ภาครัฐกวดขันเช่นกันหากทำได้จริงๆ