(ภาพ : นายวีระนันทน์ เพ็งจันทร์ ผวจ.สงขลา ถ่ายภาพร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ในการเป็นประธานเปิดจุดแบ่งปันน้ำมันบี 100 ให้กับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมสงขลา.)
วิสาหกิจชุมชน นับว่ามีความสำคัญและมีบทบาทต่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนอย่างแท้จริง หากทำกันตามหลักการที่ถูกต้อง
เช่นเดียวกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมสงขลา เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ไม่ต่างจากวิสาหกิจชุมชนอื่นๆทั่วประเทศ
ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนสงขลา มีสมาชิกกว่า 200 ราย มี นายปรีชา อ่องแก้ว เป็นประธาน ล่าสุดได้เปิด “จุดแบ่งปันน้ำมันบี 100” ขึ้น ที่ศูนย์วิสาหกิจชุมชน เลขที่ 103/1 ถนนสายคลองหอยโข่ง-กองบิน 56 หมู่ 9 ต.โคกม่วง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา
...
โดยเชิญ นายวีระนันท์ เพ็งจันทร์ ผวจ.สงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ถือบัตรเติมน้ำมันบี 100 กว่า 30,000 คน นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีคนหันมาให้ความสนใจใช้น้ำมันบี 100 มากยิ่งขึ้น
นายปรีชา อ่องแก้ว กำนันตำบลคลองหอยโข่ง ในฐานะประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมสงขลา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาภาคการเกษตรประสบปัญหาด้านผลผลิตและราคาตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นยางพาราและปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มฯจึงมีแนวคิดศึกษาเรื่องน้ำมันไบโอดีเซลบี 100 ตามแนวทางของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงคิดค้นวิจัยทดลอง เพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรของพระองค์
จึงได้น้อมนำแนวคิดนี้มาใช้ โดยรวมตัวก่อตั้งกลุ่มบี 100 สงขลาขึ้น เพื่อสร้างทางเลือกทางพลังงาน ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนชาว อ.คลองหอยโข่ง และเพื่อสืบสานต่อยอดงานวิจัยของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกทั้งเพื่อเป็นจุดแบ่งปันและกระจายน้ำมันบี 100 ให้กับสมาชิกชาว จ.สงขลา ได้ใช้กัน
นายปรีชา เผยอีกว่า ในปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์ม อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ประมาณ 200 ราย มีพื้นที่ปลูกหลายร้อยไร่และคาดว่าหากมีคนหันมาใช้น้ำมันบี 100 มากขึ้น จะส่งผลให้ราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันดีขึ้นในอนาคต
...
ระยะแรกทางกลุ่มยังไม่มีโรงงานผลิต ได้ไปศึกษาดูงานและกรรมวิธีการผลิตน้ำมันบี 100 ตามโรงงานต่างๆทั่วประเทศ 12 แห่ง ได้ข้อสรุปว่าโรงงานผลิตน้ำมันบี 100 ที่ จ.ระยอง เป็นโรงงานผลิตบี 100 จากผลปาล์มโดยตรง ราคาถูกกว่า และยังส่งตรงถึงจุดแบ่งปันไบโอดีเซลบี 100 อ.คลองหอยโข่ง เดือนละ 30,000 ลิตร
ในอนาคตหากมีประชาชนหันมาใช้น้ำมันบี 100 มากขึ้น ราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันดีขึ้น มีตลาดรองรับแน่นอน เชื่อว่าเกษตรกรจะต้องมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และเมื่อถึงตอนนั้นเราก็อาจจะมีโรงงานบี 100 เป็นของวิสาหกิจชุมชนเอง
...
วิสาหกิจชุมชนฯเปิดมาได้ 1 เดือน ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่าย 30,000 ราย และมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่างๆ อาทิ อ.สะเดา อ.นาทวี อ.จะนะ อ.นาหม่อม อ.ระโนด เดินทางมาศึกษาดูงานขอเข้าร่วมโครงการ พร้อมนำผลการศึกษาดูงานไปตั้งจุดแบ่งปันน้ำน้ำมันบี 100 ขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง
โดยทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ รับหน้าที่เป็นแม่ข่ายในการจัดหาอุปกรณ์ปั๊มน้ำมัน การสั่งน้ำมันบี 100 และถ่ายทอดการบริหารจัดการให้ คาดว่าในอนาคตจะมีจุดแบ่งปันน้ำมันบี 100 ทั่ว จ.สงขลา แน่นอน
คุณภาพน้ำมันบี 100 ที่ได้ศึกษาจากหน่วยงานรัฐ รวมทั้ง ดร.สุพร ฤทธิภักดี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มาทดสอบตัวอย่างน้ำมันบี 100 ของวิสาหกิจชุมชนฯ ยืนยันว่า การใช้ไบโอดีเซลสามารถลดมลพิษในอากาศจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สมบูรณ์
...
มีการทดลองใช้น้ำมันไบโอดีเซลกับเครื่องยนต์ดีเซล พบว่ารถที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสามารถลดควันดำได้มากกว่าร้อยละ 50 ลดแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ได้ร้อยละ 20 ลดฝุ่นละอองได้ร้อยละ 39 ลดแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ร้อยละ 99
“นอกจากนี้ การใช้ไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันดีเซลยังสามารถลดวงจรชีวิต (lifecycle) ของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ร้อยละ 78 ซึ่งเป็นผลให้ลดภาวะโลกร้อนด้วย อยากให้ทุกคนหันมาเติมบี 100 กันให้มากๆ” นายปรีชา กล่าว
ด้าน นายวีระนันทน์ เพ็งจันทร์ ผวจ.สงขลา กล่าวว่า ขอชื่นชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมสงขลา ที่ร่วมกันก่อตั้งจุดแบ่งปันน้ำมันบี 100 เป็นการตอบโจทย์การแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมัน
การใช้น้ำมันไบโอดีเซลมีส่วนช่วยเกษตรกร หากทุกคนหันมาใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น ราคาปาล์มน้ำมันก็จะสูงขึ้น เกษตรกรจะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น การรวมตัวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทุกคนเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันร่วมกัน
“อยากให้ทุกคนหันมาใช้ไบโอดีเซลให้มากขึ้น ซึ่งพิสูจน์แล้วไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ การเผาไหม้ดีกว่า ไม่มีควันดำ ให้สมาชิกช่วยกัน ทำคลิปเชิญชวนคนไทยให้หันมาใช้ไบโอดีเซลผ่านทางโซเชียล จะได้สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนที่ยังไม่กล้าใช้” นายวีระนันท์ กล่าว
นี่คือผลงานของวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างผลิตภัณฑ์จากการแก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำอย่างได้ผลชัดเจน.
สุวิทย์ แก้วห่อทอง