รำข้าว ของเหลือจากกระบวนการสีข้าว มักถูกนำไปใช้สกัดเป็นน้ำมันรำข้าว อาหารเสริม อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

ส่วนรำข้าวเหลือทิ้งจากกระบวนการนี้ ในอดีตคงเอาไปทำปุ๋ยอย่างเดียว...แต่ปัจจุบัน นักศึกษาและคณาจารย์ สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เอามาสกัดเป็นสารเคลือบยืดอายุผลผลิตทางการเกษตร

ทำให้ผลผลิตอยู่ได้นานไม่เหี่ยวเฉามากกว่าเดิมถึง 3 เท่า โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อสารตกค้าง

“สารเคลือบจากกากรำข้าว” หรือ “เมโลดี้ เฟรช” เกิดจากสกัดเอาผลึกนาโนเซลลูโลสจากกากรำข้าว นำมาทำสารเคลือบให้อยู่ในรูป Water-based emulsion system จนสามารถควบคุมความชื้น การแลกเปลี่ยนก๊าซต่างๆ รวมทั้งควบคุมการเกิดออกซิเดชัน

ด้วยมีความเป็นพิษต่ำ สามารถย่อยสลายทางชีวภาพ เมื่อเคลือบกับผิวจะช่วยลดอัตราการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจของพืช ทำให้ชะลอการสุก ยืดอายุผัก ผลไม้ ดอกไม้ สินค้าเกษตรได้

ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทา ชุบ หรือฉีด แล้วปล่อยทิ้งให้แห้ง 1 ชั่วโมง

จากการทดลองในกล้วยดิบ ใช้สาร 100 มิลลิลิตร ทากล้วยได้ 25-30 ลูก...ยืดอายุกล้วยสุกไปได้อีก 14 วัน จากเดิมอยู่ได้แค่ 3-4 วันเท่านั้นเอง

ปัจจุบันได้ผลิตมาในรูปน้ำบรรจุขวดสเปรย์ แต่กำลังพัฒนาผลิตเป็นผงละลายน้ำได้ ราคา 35 บาท ต่อสาร 100 มิลลิลิตร...อาจดูแพงเมื่อเทียบกับการใช้สารเคมี แต่เมื่อแลกกับการไม่ต้องเสี่ยงกับสารพิษตกค้างเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ส่งผลดีต่อสินค้าส่งออก น่าจะคุ้มค่ามากกว่า

นวัตกรรมนี้ได้จดอนุสิทธิบัตร และพร้อมถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ ให้ผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สนใจสอบถามได้ที่ 0-2565-4440-59 ต่อ 2409 หรือเว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat 

...