บนกล้องโทรทรรศน์วีแอลทีขนาดใหญ่มาก (Very Large Telescope) ของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป ตั้งอยู่ในประเทศชิลี มีเครื่องมืออัจฉริยะชื่อมิวส์ (Multi Unit Spectroscopic Explorer-MUSE) ติดตั้งอยู่ เครื่องมือนี้ได้ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถรวมสเปกตรัมของท้องฟ้าผ่านมุมมองภาพ 2 มิติได้
ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ศูนย์วิจัยฟิสิกส์ดาราศาสตร์เมืองลียง ในฝรั่งเศส ได้รายงานลงในการประชุมประจำปีของสมาคมดาราศาสตร์แห่งยุโรป ถึงการค้นพบกาแล็กซีในจักรวาลอันไกลโพ้น ที่หาได้รอดพ้นสายตาของเครื่องมิวส์ โดยพบว่ากาแล็กซีที่ยังไม่มีชื่อแห่งนี้ถูกล้อมรอบด้วยรูปลักษณะคล้ายวงแหวนเรืองแสงขนาดใหญ่ สภาพเกือบเป็นวงสมบูรณ์ นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์ยังพบว่าวงแหวนเรืองแสงนั้นประกอบด้วยไฮโดรเจนที่เป็นกลางจำนวนมาก และถึงแม้จะอยู่ห่างไกลแต่กลับเป็นพื้นที่น่าสนใจของนักดาราศาสตร์ไม่น้อย เพราะพบว่ามีการแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างบรรดากาแล็กซีและสภาพแวดล้อม เผยให้เห็นการเปล่งแสงของก๊าซที่ถูกปล่อยออกมา เมื่อส่องขยายดูก็พบไฮโดรเจนภายในขอบเขตของกาแล็กซีหรือที่เรียกว่าฮาโล (halo)
นักดาราศาสตร์เชื่อว่ากาแล็กซีแห่งนี้อาจช่วยให้ค้นพบคุณสมบัติของก๊าซว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรในฮาโล ซึ่งสำคัญต่อการทำความเข้าใจกระบวนการทางกายภาพของฮาโล รวมถึงเข้าใจการเคลื่อนที่ของก๊าซรอบกาแล็กซีว่าเป็นอย่างไร.