จากปัญหาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผู้เลี้ยงกุ้ง ได้ขอให้ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ช่วยศึกษาหาสูตรอาหารไม่ใช้ปลาป่น เพื่อตอบโจทย์สหภาพยุโรป ที่เริ่มใช้มาตรการห้ามใช้ปลาป่นเป็นวัตถุดิบในอาหารสัตว์

ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เผยว่า ปัญหานี้ไม่ใช่จะมีแต่เรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าใหม่ที่อียูจะนำมาใช้เท่านั้น การนำปลาป่นมาทำอาหารเลี้ยงลูกกุ้ง ยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนค่าอาหารและการบำบัดน้ำเสียสูงอีกด้วย

“เนื่องจากอาหารเลี้ยงลูกกุ้งทำจากปลาป่น จะมีขนาดของอาหารที่ใหญ่เกินตัวลูกกุ้ง และหลังจากให้อาหารเพียง 5 วินาที ลูกกุ้งกินอาหารได้ไม่ถึงครึ่ง อาหารจะละลายในน้ำเร็วมาก นอกจากจะกลายเป็นต้นทุนที่สูญเปล่าไปมากมายแล้ว ยังทำให้น้ำเน่าเสียเร็ว หลังให้อาหารต้องถ่ายน้ำออกทิ้ง 30% ไม่อย่างนั้นน้ำอนุบาลลูกกุ้งจะเน่าเสีย เสี่ยงต่อกุ้งน็อกน้ำ”

ทางศูนย์นาโนเทคฯ จึงตั้งต้นคิดสูตรอาหารเม็ดไฮโดรเจล...นำกากถั่วมาเป็นแหล่งโปรตีนหลักทดแทนปลาป่นโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตเม็ดไฮโดรเจลเก็บกักโปรตีน มาประยุกต์ใช้ในการผลิตอาหารสำหรับกุ้งวัยอนุบาล ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีไมโครเอนแคปซูเลชัน (encapsulation) เพื่อกักเก็บโปรตีนที่มีโมเลกุลขนาดเล็กโดยไม่มีการรั่วซึม ไม่ละลายในน้ำง่าย เพื่อลดการเน่าเสียของน้ำ และหลังจากลูกกุ้งกินอาหารเข้าไปแล้ว อาหารยังสามารถดูดซึมให้ลูกกุ้งไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว

...

นายชัยเจริญ ลิ้มเจริญ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยยูเนี่ยน แฮชเชอรี่ จำกัด เผยถึงผลการทำสูตรอาหารไฮโดรเจลมาเลี้ยงลูกกุ้งทดแทนปลาป่น ใน 12 บ่อ (6 ล้านตัว) พบว่า หลังนำอาหารดังกล่าวใส่ลงไปในบ่ออนุบาล ลูกกุ้ง สภาพน้ำยังมีความใส ไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลขุ่นเหมือนอาหารลูกกุ้งทั่วไป

ลูกกุ้งสามารถกินอาหารได้มาก 80-90% ต่างจากอาหารสูตรเดิมที่ลูกกุ้งกินได้แค่ 20-30% ส่วนที่เหลือจะละลายไปกับน้ำในบ่อเลี้ยง

ภาพเปรียบเทียบ สภาพน้ำหลังให้อาหารกุ้งทั่วไปกับไฮโดรเจล.
ภาพเปรียบเทียบ สภาพน้ำหลังให้อาหารกุ้งทั่วไปกับไฮโดรเจล.

ส่วนคุณภาพน้ำ จากเดิมการถ่ายน้ำเพื่อบำบัดที่ต้องถ่ายเทน้ำออกจากบ่อ 30% วันละ 2 ครั้ง...แต่หลังจากใช้อาหารเม็ดไฮโดรเจล การถ่ายเทน้ำเปลี่ยนมาเป็นแค่ 3 วันต่อ 1 ครั้งเท่านั้น

เนื่องจากสภาพน้ำค่อนข้างใส เพราะของเสียที่เกิดจากอาหารเลี้ยงกุ้งมีน้อย ช่วยลดต้นทุนการบำบัดน้ำเสีย

สูตรอาหารนี้ นอกจากเตรียมพร้อมการขาดแคลนปลาป่นในอนาคตแล้ว ทำให้คาดว่าอาหารสูตรนี้จะช่วยให้ไทยสามารถทวงตลาดส่งออกกุ้งให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง.

เพ็ญพิชญา เตียว