โลกยุคไซเบอร์ปัจจุบันกำลังพลิกผัน เมื่อมีการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันสมัยมาใช้จนทรัพยากรมนุษย์เริ่มไร้ความจำเป็น ขณะประชากรโลกเพิ่มแต่ความต้องการคนทำงานกลับลดลง

เฉกเช่น “โลกวรรณกรรม” ที่เคยเฟื่องฟูบนหน้ากระดาษสิ่งพิมพ์ เมื่อถึงวันนี้จำต้องหดหายไปกับอุปกรณ์ระบบทันสมัย หลังบทบาทอี-บุ๊กผงาดเคลื่อนเข้ามาแทนที่

ทำเอาสำนักพิมพ์ หนังสือพิมพ์ นิตยสารรายเดือน รายปักษ์ รายสัปดาห์ชิงแข่งขันกันปิดตัวเอง ทั้งๆที่มิได้ประสบปัญหาขาดทุนถึงขั้นล้มละลาย

แต่สู้เสี่ยงไม่คุ้มกับสภาวะตลาดที่ผกผันไปสู่ทางตันไม่ได้...เกิดอาการล้มครืนตามทฤษฎีโดมิโน โรงพิมพ์ที่เคยมีงานประจำกลับไร้งานป้อน ช่างแท่น ช่างพิมพ์ ช่างพับ คนพิสูจน์อักษรไร้งานตามมา ร้านขายหนังสือตลอดจนแผงขายกระทบต้องปิดตัวม้วนเสื่อจบตามๆกันไป

สมาคมองค์กรที่เคยส่งเสริมสนับสนุนประกาศมอบรางวัลงานประพันธ์คุณภาพ ก็ดูเหมือนจะลดบทบาท เพราะการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมได้หล่นหายไปกับนวัตกรรมใหม่ แต่ยังโชคดีที่งานสัปดาห์หนังสือแต่ละปียังคงมีหนอนหนังสือคับคั่งบ้างไม่ต่างวันวานที่ผ่านๆมา

ย้อนวันวานทุ่งลาเวนเดอร์...นักเขียนนักประพันธ์ผู้เป็นคลังสมองบนสวนอักษร ที่ยุคหนึ่งเคยถูกตราหน้าว่า “ไส้แห้ง” จากค่าตอบแทนน้อยนิด ได้เริ่มลืมตาอ้าปากได้บ้างในยุคต่อมา เมื่อตลาดหนังสือเฟื่องฟูบนถนนวรรณกรรม ชีวิตคนเขียนนิยายจึงสามารถยกระดับขึ้นชั้นงานอาชีพหนีคำว่าไส้แห้งได้

ด้วยรายได้ที่มาจากสื่อสิ่งพิมพ์รายวัน นิตยสารรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน และจากสำนักพิมพ์ที่นำไปพิมพ์รวมเล่มจำหน่ายซ้ำครั้ง

ทำเอานักเขียนยุคทองบางคนได้รับนิยามเป็นนักเขียนบรรทัดละ 8 บาทไปในที่สุด...

นี่ยังไม่นับรวมค่าลิขสิทธิ์ทางปัญญาที่ถูกนำไปสร้างรังสรรค์เป็นภาพยนตร์...ละครโทรทัศน์อีกต่างหาก

...

ปัจจุบัน...เมื่อสวนอักษรเกิดวิกฤติไซเบอร์ หนอนหนังสือที่พอมีอยู่บ้างจึงเกิดปริศนาว่า...แล้วนักเขียนนิยายหายไปไหน? คำตอบที่หาได้...หลายคนพอมีรายได้จากงานที่ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำ และจากลิขสิทธิ์ภาพยนตร์กับละครโทรทัศน์ บางคนวางเฉยเลือกทำสวน บ้างก็เปิดร้านขายอาหารแทนขายอักษร

และ...บางคนถือสันโดษขุดบ่อเลี้ยงปลา

หนึ่งในนั้น ไมตรี ลิมปิชาติ นักเขียนวัย 77 ปี ที่มีงานเขียนเรื่องสั้น 200 เรื่อง สารคดีท่องเที่ยวรวมเล่ม 14 เล่ม หนังสืออ่านประกอบภาพสำหรับเยาวชนอีก 10 เล่ม นวนิยายเรื่องยาว 15 เล่ม

โดยเรื่องสั้นชุด “คนอยู่วัด” กระทรวงศึกษาธิการได้นำไปเป็นหนังสืออ่านนอกเวลากับนักเรียนชั้นมัธยมต้นมาตลอด 30 ปี พิมพ์ซ้ำ 40 ครั้ง รวมยอดกว่า 7 แสนเล่ม และมีอีกหลายเรื่องเคยได้รับรางวัลชมเชยหนังสือดีเด่นประจำปีหลายปี

นิยายชุด “ดอกเตอร์ครก” และ “ความรักของคุณฉุย” เคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์จอยักษ์กับละครจอแก้ว ไมตรีขึ้นชั้น

นักเขียนมือทองในสวนอักษรของไทย ที่ออกมายอมรับในวันนี้ว่า...วิกฤติไซเบอร์กับตลาดหนังสือมีส่วนทำร้ายจิตใจคนเขียนหนังสือ มากกว่ารายได้ที่สูญหายไป

“ใหม่ๆที่ตลาดหนังสือเริ่มเกิดปัญหา มีเพื่อนที่เป็นนักเขียนภาพชวนผมไปเที่ยวพักผ่อนอเมริกา พอไปถึงเพื่อนๆก็หยิบเฟรมมาตั้งเขียนภาพอย่างมีความสุข มันถึงทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาทันทีว่า ควรจะหันมาเป็นนักเขียนภาพ แทนการเขียนนวนิยายที่หายไป”

ไมตรีบอกด้วยว่า เคยชอบงานเขียนภาพมาตั้งแต่เด็ก ถึงขั้นไปสมัครสอบเข้าเรียนวิชาศิลปกรรม แต่พ่อไม่ให้เรียนเพราะกลัวต้องเป็นครูสอนวาดเขียนตลอดชีวิต จึงหันไปเรียนเขียนแบบช่างก่อสร้าง ประกอบกับเป็นคนรักการอ่านจึงใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียนไปด้วย

“จิตใจตอนนั้นมุ่งแต่งานเขียนหนังสือ ทำให้ต้องทิ้งงานเขียนภาพไปนับแต่บัดนั้น”

หลังกลับจากอเมริกา ไมตรีตัดสินใจเปิดสตูดิโอขึ้นภายในบ้านแล้วเริ่มฟื้นฟูงานเขียนภาพสีอะคริลิกบนผืนผ้าใบขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ง่ายนักเพราะร้างมาค่อนชีวิต

เขียนเสร็จไม่ถูกใจก็ลบทิ้งเขียนใหม่ ซ้ำไม่รู้กี่ครั้งจนถึงจุดที่สามารถค้นพบตัวเองว่าคงไม่ถนัดจะเขียนภาพจริงธรรมชาติ (Pictorial) หรือภาพเหมือนบุคคล (Portrait)…แต่ชอบเขียนโดยใช้อารมณ์ตนเองเป็นตัวตั้ง

แล้วถ่ายทอดผ่านสีบนเฟรมเป็นภาพเชิงนามธรรม (Abstract) ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าต้นไม้จะต้องเหมือนต้นไม้ ดอกไม้จะต้องมีลวดลายคล้ายกลีบดอกประณีตบรรจง

“การเขียนภาพไม่ต่างการเขียนนิยาย ตรงต้องมีพล็อตและการดำเนินเรื่อง การเขียนภาพก็ต้องมีพล็อตและรายละเอียดที่จะสื่อออกมา แต่ก็มีความต่างอยู่บ้างตรงการเขียนนิยายเรากำหนดเนื้อหาตัวละครได้ตามนั้น ส่วนการเขียนภาพสีจะไหลลื่นต้องปล่อยไปตามทิศทางของมัน”

ไมตรี บอกอีกว่า อารมณ์ขณะเขียนภาพมันช่างมีความสุขเหมือนคนหลุดโลก มีทั้งความรู้สึกที่เบาหวิวกับรุนแรงจนต้องเอาสีมาสาดใส่เฟรมแทนใช้แปรงสี

ภาพนั้นอาจดูไม่รู้เรื่องแต่สามารถบอกอารมณ์ได้เลยว่า...เร่าร้อนหรือนุ่มนวลละมุนละไม

“ลูกเมียเห็นผมทุ่มเทกับงานเขียนภาพจนเสื้อเนื้อตัวและห้องสตูดิโอเปรอะเปื้อนสีเต็มไปหมด ก็เลยเหมาเอาว่า...ผมกำลังบ้า!”

ไมตรีใช้ชีวิตอยู่ในสตูดิโอทุกวัน บางวันผลิตงานได้ 2- 3 ชิ้น แต่บางวันได้แค่ 1 ชิ้นก็ถือว่าเก่งแล้ว เพราะมันขึ้นอยู่กับอารมณ์ที่นักเขียนภาพกับนักเขียนนิยายแยกกันไม่ออก

ทุกวันนี้ไมตรีมีความสุขกับงานเขียนภาพนามธรรมที่ผลิตงานมาแล้วกว่า 500 ภาพ โดยเคยจัดแสดงภาพ 6 ครั้ง แต่ละครั้งมักมีผู้สนใจจำนวนมาก ทุกภาพแสดงพร้อมขายโดยไม่ตั้งราคา...

...

ขึ้นอยู่กับความพอใจของคนซื้อ ที่ผ่านมาราคาจะเริ่มต้นที่ภาพละ 3,000-50,000 บาท

ล่าสุด...กำลังจัดแสดงภาพเป็นครั้งที่ 7 ชุด “สบายๆ สไตล์ไมตรี” ณ อาคารนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่ง ประเทศไทย มีดนตรีวงอรุณอมรินทร์บรรเลงทุกวัน เวลา 11.00–19.00 น. ถึง 31 พ.ค.นี้

นี่คือคำตอบ...ที่อยากบอกว่านักเขียนนิยายที่เคยขายอักษรชื่อไมตรี ลิมปิชาติ ไม่ได้หายไปไหน เขาเพียงปรับลุคใหม่เป็นคนเขียนภาพยุคไทยแลนด์ 4.0 รุ่นเบบี้บูมเมอร์! นั่นปะไร.