ณ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 62 พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ ผบช.สกบ., พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รอง ผบช.ภ.7 ปฏิบัติราชการแทน รอง ผบช.สตม.ในฐานะรองประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ พร้อม พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. ได้นำคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ, ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน), ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นทีมที่ปรึกษาโครงการฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท Dermalog เยอรมนี ได้เดินทางมาตรวจสอบการติดตั้งและทดสอบระบบ Biometrics โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคล (ลายพิมพ์นิ้วมือและภาพถ่ายใบหน้า) ซึ่งขณะนี้ได้ทำการติดตั้งในสนามบิน 16 แห่งทั่วประเทศไปแล้วกว่า 70%
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบใหม่นี้จะต้องทำการติดตั้งและทดสอบระบบให้ครบทุกช่องตรวจของสนามบินทั้ง 16 แห่ง โดยในขณะนี้ได้มีการทดสอบระบบ Biometrics ในการตรวจสอบผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศไทย ไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 5 แสนรายการ และอยู่ในช่วงการปรับปรุงให้ระบบมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นกว่าระบบเดิมที่ไม่ได้ใช้ Biometrics ก่อนที่จะดำเนินการติดตั้งระบบงาน เพื่อใช้งานจริงทุกช่องตรวจของด่านตรวจคนเข้าเมืองในการส่งมอบโครงการฯ
ระบบ Biometrics ใหม่นี้เป็นระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล เช่นใบหน้า และลายพิมพ์นิ้วมือ ซึ่งก่อนหน้านี้ระบบเดิมของการตรวจสอบบุคคลเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย ใช้เทคโนโลยีแบบเก่า ที่ไม่มีการใช้อัตลักษณ์แต่ประการใด ปัญหาที่เกิดคือ การปลอมแปลงเอกสาร หรือหนังสือเดินทาง เพื่อการแฝงตัวของผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ ผู้ต้องหาหลบหนี ผู้ไม่หวังดี สามารถกระทำได้ไม่ยาก ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อประเทศไทย กระทบการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ และการท่องเที่ยว แต่ในระบบการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบโดยใช้ลายพิมพ์นิ้วมือ และภาพถ่ายใบหน้า ด้วยระบบ Biometrics ได้มีการนำอัตลักษณ์ทางชีวภาพบุคคลมาใช้ในการยืนยันตัวตน และตรวจสอบบุคคลต้องห้าม (Blacklist) สร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการพิสูจน์ตัวบุคคลและเป็นการยกระดับการตรวจคนเข้าเมืองเทียบเท่าระดับสากล เป็นการสร้างความประทับใจ และความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ระบบ Biometrics ที่นำมาใช้ในโครงการนี้เป็นของประเทศเยอรมนีจากบริษัทใหญ่ซึ่งทางรัฐบาลเยอรมนีถือหุ้น มีผลงานด้าน Biometrics มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และยังประสบความสำเร็จในการตรวจจับผู้ก่อการร้ายระดับต้นๆ
รอง โฆษก ตร. กล่าวต่ออีกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2562 ระบบจะสามารถพร้อมใช้งานได้เต็มรูปแบบทั่วประเทศ โดยจะทำการติดตั้งระบบกว่า 2,000 เครื่อง ณ จุดตรวจคัดกรองผู้โดยสารทั่วประเทศ ด่านบก ด่านทางน้ำ ท่าอากาศยาน เพื่อเป็นการคัดกรองบุคคล ลักษณะเด่นของระบบ คือ การยืนยันตัวบุคคลที่เข้ารับการตรวจ ป้องกันการใช้หนังสือเดินทางปลอม การเปลี่ยนชื่อ และในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งถือเป็นก้าวแรก ในการตรวจคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้า-ออก ประเทศไทย ให้เป็นมาตรฐานสากลกับประเทศอื่นทั่วโลก โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 5 ในอาเซียนที่นำระบบ Biometrics มาใช้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว นักลงทุน