ในเมื่อเทคโนโลยีและโลกของดิจิทัลกำลังเข้ามา Disrupt และพลิกโฉมให้ทุกธุรกิจ ในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไป วิธีรับมือที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นการรู้จักปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ในวันที่โลกใบนี้กำลังถูกเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
เหมือนกับหนึ่งในธุรกิจที่ Marketeer หยิบมาเขียนให้ทุกคนได้ติดตามในบทความนี้ อย่างเรื่องของ “พระเครื่อง 3 มิติ” พัฒนาโดยทีม World Amulet 3D พร้อมดีกรีผู้ชนะการประกวดจากโครงการ YTP หรือโครงการ Young Technopreneur เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา
ต้องเล่าก่อนว่า โครงการ Young Technopreneur คือโครงการจาก กลุ่มบริษัทสามารถจับมือกับ สวทช. เพื่อเปิดเวทีประชันไอเดียทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการนำเอานวัตกรรมใหม่และเทคโนโลยีมายกระดับธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น
ที่สำคัญตัวโครงการนี้ยังเป็น ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ เพื่อส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ต่อยอดไอเดียและเรียนรู้การทำการตลาดและการสร้างธุรกิจอย่างถูกต้อง โดยทีมผู้ชนะเลิศยังจะได้รับรางวัล Samart Innovation Awards และเงินสนับสนุนในการต่อยอดธุรกิจจากสามารถอีกด้วย
“เราไม่อยากให้ความรู้ตรงนี้หายไป” ประโยคแรกจากทีมผู้พัฒนาพระเครื่อง 3 มิติ เล่าให้เราเห็นถึงความสำคัญของความรู้ในการดูพระเครื่อง วิชาความรู้ที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น
แต่ในวันนี้ความรู้และข้อมูลตรงนี้กำลังค่อยๆ เลือนหายไปด้วยความยากในการศึกษาหาข้อมูล บวกกับต้องใช้ทั้งประสบการณ์ ใช้ทั้งความชำนาญ และที่สำคัญความรู้เหล่านี้ยังถูกส่งต่อไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้น้อยลงทุกที
“ปัญหาของการศึกษาพระแท้ คือ พระแต่ละองค์มีรายละเอียดและจุดพิจารณาหลายจุดไม่ซ้ำ รุ่นเดียวกันวัดเดียวกัน ต่างปีต่างพิมพ์จุดสังเกตก็ต่างกันแล้ว ทำให้ผู้ดูจะต้องมีความเข้าใจและมีความรู้ว่าต้องพิจารณาตรงไหน ต้องดูอย่างไร ตรงไหนคือจุดสังเกตจุดพิจารณา”
เดิมทีข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในหนังสือพระหรือไม่ก็อยู่ในสมองของเซียนพระ โดยเฉพาะในหนังสือสามารถดูพระได้มิติเดียวซึ่งเป็นข้อจำกัด เพราะการศึกษาดูพระที่แท้จริงต้องดูหลายๆ มุมมอง หลายมิติ ประกอบกัน ความนูนความเว้า ตำหนิของพิมพ์ที่อยู่บนองค์อยู่บนเหรียญ
บางคนอาจใช้การเรียนรู้จากพระแท้ แน่นอนว่าต้องลงทุนเช่าหามาเพื่อศึกษา หรือต่อให้มีพระแท้อยู่ในมือแต่ไม่มีความรู้ว่าต้องดูตรงไหนก็จบเหมือนกัน
ทางทีมจึงอยากใช้เทคโนโลยี พระเครื่อง 3 มิติ ขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางสำหรับผู้ที่สนใจพระเครื่อง ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นมือใหม่หรือเป็นเซียนพระ ข้อมูลเหล่านี้เราพัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
“เราอยากเห็นคนที่สนใจพระเครื่องพกสมาร์ทโฟน 1 เครื่องเดินเข้าไปในตลาดพระแล้วไปเลือกชมพระที่ท่านสนใจพร้อมกับสามารถดูได้ผ่านจอโทรศัพท์เพียงปลายนิ้วสัมผัสได้เลย”
สำหรับแพลตฟอร์ม พระเครื่อง 3 มิติ ในตอนนี้แบ่งเป็น 2 ช่องทาง ได้แก่ เเพลตฟอร์มออนไลน์ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.worldamulet3d.com เเละ Facebook: WorldAmulet3D
ซึ่งเปรียบเสมือนฐานข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับพระเครื่อง ที่มีทั้ง พระเครื่อง 3 มิติ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าไปเลือกศึกษา เเบ่งเป็นเเคททิกอรีชัดเจนตามภูมิภาคของวัด ชื่อวัด รวมถึงมีข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ราคาโดยประมาณ ประวัติความเป็นมาของพระเครื่อง เกจิอาจารย์ สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาแค่สมัครสมาชิกกับเว็บไซต์ หลังจากนั้นก็เริ่มศึกษาพระรุ่นต่างๆ ได้ทันที อีกหนึ่งแพลตฟอร์ม World Amulet 3D ได้จัดทำเป็นหนังสือรวมพระดังที่ผู้คนให้ความสนใจ เช่น มรดกพรหมรังสี พระสมเด็จ 3 มิติ
ที่แตกต่างจากหนังสือพระทั่วไป คือการครอสแพลตฟอร์มไปยังการดูพระแบบ 3 มิติได้ เพียงแค่สแกนผ่าน QR Code ด้วยสมาร์ทโฟนทำให้ผู้ที่สนใจศึกษาได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
“แม้เราจะมีเทคโนโลยีและไอเดียในหัวแล้ว แต่เรายังขาดความรู้ในการทำธุรกิจอยู่” ทีม World Amulet 3D เกริ่นถึงจุดเริ่มในการก้าวสู่โครงการ Young Technopreneur เมื่อปีที่ผ่านมา
“ตอนนั้นพวกเราพยายามหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่าจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ให้กลายเป็นธุรกิจจริงๆ ได้อย่างไร จนมาเจอกับเวทีแข่งขันจากสามารถ และ สวทช. อย่างโครงการ Young Technopreneur”
ประสบการณ์ที่ได้จากโครงการนี้ไม่ใช่แค่การประกวด แต่นี่คือ Workshop ที่ให้ความรู้มากกว่า เพราะตลอด 8 เดือนที่อยู่ในโครงการ เหมือนกับได้เรียนรู้การทำธุรกิจจากโค้ชมืออาชีพ ได้เริ่มรู้การทำ Business Model เขียนแผนธุรกิจเพื่อให้เห็นโอกาสในการต่อยอด ได้ลองลงพื้นที่จริงเพื่อค้นหากลุ่มเป้าหมายว่าตรงกับสิ่งที่เราคิดจริงๆ หรือไม่
“ที่สำคัญ คือทำให้เราได้เรียนรู้ผู้บริโภคไปด้วย และเรียนรู้ที่จะต่อยอดจากสิ่งเรามีได้อย่างไร“
“พอเรารู้ว่า พระเครื่อง 3 มิติ บนแพลตฟอร์มของเว็บไซต์ออนไลน์ยังเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่แท้จริงของเราได้ไม่มากพอ เพราะคนที่ศึกษาและสนใจเรื่องนี้ยังสนใจในการศึกษาหาข้อมูลจากหนังสือพระอยู่ ทางทีมจึงพัฒนาเป็น หนังสือพระเครื่อง 3 มิติ และโยงเข้ากับเทคโนโลยีบนออนไลน์ด้วย QR Code เสริม คนที่ซื้อไปก็ได้ทั้งหนังสือพระที่มีข้อมูลในรูปแบบของสิ่งพิมพ์อยู่ในมือ รวมถึงสามารถดูพระ 3 มิติก็ได้เช่นกัน”
ซึ่งในตอนนี้ทีม World Amulet 3D ได้ผลักดันให้เว็บไซต์ worldamulet3d.com คอมมูนิตี้สำหรับผู้ที่สนใจพระเครื่อง รวมถึงทำคอนเทนต์ผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทั้ง Facebook ช่อง YouTube เพื่อความรู้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น
รวมถึงสร้าง Marketplace สำหรับผู้ที่สนใจเช่าพระ บูชาพระเครื่องผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งตอนนี้มีคนสนใจผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน
นอกจากนั้นทางทีมยังมีโปรเจกต์ในการนำเอาเทคโนโลยี AR และ Ai มาต่อยอด เพื่อแก้ Pain Point ของคนที่อาจมีพระเครื่องอยู่ในมือแต่ไม่เป็นเซียนพระหรือมีความรู้ด้านนี้มากนัก อาจเป็นพระเครื่องที่ได้มาจากผู้ใหญ่ แต่ไม่รู้ว่าพระเครื่องที่มีอยู่คือรุ่นอะไร มาจากวัดไหน
เทคโนโลยีว่าจะช่วยให้คนที่มีพระเครื่องอยู่ในมือสแกนพระผ่านโปรแกรมที่กำลังพัฒนา ระบบก็จะเช็กจากฐานข้อมูลที่มีว่าพระองค์นี้คือพระรุ่นอะไรจากวัดไหนเพื่อนำไปศึกษาหาข้อมูลต่อได้ทันที
กว่าจะเป็นพระเครื่อง 3 มิติ 1 องค์
ปัจจุบันบนเว็บไซต์มีฐานข้อมูลพระเครื่องอยู่ประมาน 1,500 องค์ โดยในแต่ละองค์จำเป็นต้องใช้กล้องถ่ายภาพถ่ายรูปมุมต่างๆ รวมถึงจุดพิจารณากว่า 10,000 ถึง 20,000 รูป เพื่อเก็บทุกรายลของพระให้ได้ทุกมุม ชัดไปถึงเนื้อวัตถุของพระ ก่อนจะนำมาใส่ข้อมูลต่างๆ รวมถึงนำไปใช้กับการทำวิดีโอคอนเทนต์ บัตรพระแท้และหนังสือต่อด้วย จะเห็นได้ว่ากว่าจะมาเป็นพระเครื่อง 3 มิติ 1 องค์ ต้องผ่านหลายขั้นตอนและกินเวลาพอสมควรทีเดียว
“ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้มีเงินทุนอะไรมากมายในการเช่าบูชาพระแท้มาเพื่อทำข้อมูลขนาดนั้น เพราะพระเครื่องบางองค์มูลค่า 20-60 ล้าน แต่ยังพอโชคดีที่ได้เซียนพระหรือคนที่มีพระที่สมบูรณ์อยู่ในมือเห็นความตั้งใจในการยกระดับวงการนี้ จึงให้หยิบยืมพระแท้เพื่อให้ทีมนำมาจัดทำข้อมูลเผยแพร่แก่คนอื่นต่อไป”
ต้องรู้จักเปิดโอกาสให้ตัวเอง
ทางทีม World Amulet 3D ยังฝากข้อคิดสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Young Technopreneur ไว้อย่างน่าสนใจ
โครงการนี้เป็นโอกาสที่จะได้ต่อยอดไอเดียธุรกิจจริงๆ สำหรับคนที่มีไอเดียมีเทคโนโลยีในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ อย่าปล่อยให้โอกาสหลุดมือ เพราะการที่เราได้เข้าฝึกอบรม ได้เจอกับโค้ชทางธุรกิจเก่งๆ ทำให้มองเห็นว่าธุรกิจเราควรไปในทิศทางไหน อีกทั้งยังเชื่อว่าทุกธุรกิจ ทุกโปรดักส์หรือบริการที่คุณทำสามารถต่อยอดด้วยเทคโนโลยีได้ อย่างน้อยๆ ต้องมีกลุ่มคนที่ชอบในไอเดียคุณ และนั่นแหละ คือตลาด คือลูกค้า และคือ โอกาส อยู่ที่คุณจะหาเจอรึเปล่า
“เพราะการทำธุรกิจและการทำการตลาดในยุคนี้ ตลาดที่เป็นกลุ่มเฉพาะจริงๆ อาจจะขายดีกว่ากลุ่มแมสก็ได้… ถ้ามีไอเดียแล้วก็อยู่ที่คุณจะลุยไปกับมันรึเปล่า”
นอกจากนั้น ทางทีม World Amulet 3D ยังมองว่าประสบการณ์ล้ำค่าที่พวกเขาจากโครงการนี้คือ การได้ต่อยอดธุรกิจที่ทำอยู่ “เพราะหลังจากที่เราได้รางวัลชนะเลิศ โครงการพระเครื่อง 3 มิติของเราได้รับความสนใจจากกลุ่ม บริษัทสามารถ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อมองไปยังก้าวต่อไปในการพัฒนาธุรกิจให้เเข็งเเกร่งมากยิ่งขึ้นอยู่ด้วย”
โอกาสในการต่อยอดธุรกิจมาถึงเเล้ว!
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Young Technopreneur ในปีนี้ สามารถศึกษาขั้นตอนในการส่งเเผนธุรกิจเข้าประกวดรวมถึงมีกติกาอะไรบ้าง ตามกันต่อได้เลย
โดยในปีนี้ทางโครงการได้กำหนดหัวข้อเพื่อให้สอดรับกับแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศ เป็นการนำเทคโนโลยี Robo Tech, IOT, AI, เเละ Deep Tech มาปรับใช้เพื่อต่อยอดในอุตสาหกรรมหลัก 4 ด้าน ได้แก่
1. อุตสาหกรรมอาหาร และการเกษตร (Food & Agriculture)
2. อุตสาหกรรมการแพทย์ และบริการเพื่อผู้สูงอายุ (Medical & Aging Society)
3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ (Tourism & Services)
4. อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation & Logistics)
ทีมที่ผ่านการคัดเลือกในรอบเเรกจะได้รับสิทธิในการเข้าบ่มเพาะความรู้จากโครงการเป็นระยะเวลา 36 ชั่วโมง และต้องมานำเสนอผลงานของตัวเองต่อคณะกรรมการ
สุดท้าย ทีมชนะเลิศจะได้รับรางวัล 100,000 บาท พร้อมรางวัล Samart Innovation อีก 100,000 บาท รวมเป็นเงินรางวัลทั้งสิ้น 200,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 และ 3 จำนวน 80,000 และ 50,000 ตามลำดับ ส่วนทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทุกทีมจะได้รับทุนพัฒนาผลงานจำนวน 30,000 บาท
โครงการ Young Technopreneur ปี 2019 (รุ่นที่ 8) เปิดรับสมัครแล้วตั้งเเต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ www.samartsia.com และ https://www.facebook.com/SamartInnovationAwards/ สอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทร. 0 2564 7000 ต่อ 81490 และฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น โทร. 0 2502 6000 ต่อ 6522, 8183