การเผาอ้อยเป็นอีกหนึ่งปัจจัยก่อปัญหาฝุ่นควัน...แม้จะมีผลเสียมากมาย แต่เกษตรกรยังคงนิยมทำกัน เพราะสะดวกในการตัดอ้อย ประหยัดค่าแรงงานตัด หีบอ้อยได้ทันตามฤดูกาลผลิต

ครั้นจะส่งเสริมให้ใช้รถตัดอ้อย แก้ปัญหาไม่ได้อยู่ดี เพราะมีแค่เกษตรกรรายใหญ่เท่านั้นที่เข้าถึงเครื่องจักรราคาหลายล้าน แถมอ้อยส่วนใหญ่ปลูกกันแบบเน้นปริมาณ ไม่มีการปรับพื้นที่ให้รถตัดอ้อยเข้าไปทำงานได้

...

จึงยังมีพื้นที่แค่ 40% ที่ไม่ต้องเผาอ้อย...อีก 60% เผาเหมือนเดิม

จึงเกิดการประสานความร่วมมือระหว่าง สมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม โรงงานน้ำตาลวังขนาย และ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำโครงการรณรงค์ “ตัดอ้อยสด ลดมลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร”

“นอกจากจะต้องเปลี่ยนความคิดเกษตรกร ต้องสร้างแรงจูงใจเพิ่มด้วย เริ่มตั้งแต่ลงพื้นที่ชี้แจงให้ชาวไร่รับทราบถึงผลกระทบ โดยเฉพาะกับตัวเกษตรกรเอง เพราะหากพบอ้อยไฟไหม้จะถูกหักราคาตันละ 30 บาท เจออ้อยยอดยาวหรืออ้อยปนเปื้อนไฟไหม้หักเงินตันละ 20 บาท เพื่อเอาไปเพิ่มให้คนที่ตัดอ้อยสด และใครส่งอ้อยสดเข้าโรงงาน จะให้คูปองไว้สะสมแลกของสมนาคุณ”

ธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย บอกถึงแรงจูงใจในการลดเผาอ้อย...นอกจากนั้นยังให้คิวพิเศษกับรายที่ตัดอ้อยสด ติดป้ายประชาสัมพันธ์หน้าโรงงานและทุกสถานีขนถ่าย ชี้แจงบทลงโทษและวางแนวทางส่งเสริมการตัดอ้อยสดให้เกษตรกรมีทางเลือกในการเก็บเกี่ยวด้วยเทคโนโลยี ใหม่ ตลอดจนให้เกษตรกรตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน

“ที่สำคัญเราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้ใบอ้อยที่มีไร่ละ 1.5-2 ตัน เบื้องต้นนอกจากเกษตรกรจะปล่อยส่วนหนึ่งไว้คลุมดิน รักษาความชื้น ลดการงอกของวัชพืช ใช้บำรุงดิน และทำปุ๋ยหมักแล้ว เรายังเพิ่มทางเลือกในการนำมาหมักทำอาหารสัตว์ มีสหกรณ์โคนมในพื้นที่รับซื้อ กก.ละ 2.5 บาท หรือนำไปขายให้กับผู้ผลิตเอทานอลในราคาไร่ละ 700-1,000 บาท และหากใครพอมีทุนซื้อเครื่องอัดฟาง จะมีโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลรับซื้อ กก.ละ 1 บาท เฉลี่ยแล้วเกษตรกรจะมีรายได้เสริมจากใบอ้อยไร่ละ 1,000-2,000 บาท เป็นอย่างน้อย”

สำหรับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร สยามคูโบต้า ได้แนะนำนวัตกรรม เครื่องสางใบอ้อย เพื่อให้แรงงานเข้าไปตัดอ้อยได้โดยไม่ต้องเผา สามารถเก็บใบไปขายได้ต่อ

...

และหากพอมีทุนสามารถซื้อเครื่องตัดอ้อยมาทุ่นแรง โดยอุปกรณ์เหล่านี้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับแทรก-เตอร์ได้ทันที...การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย นอกจากช่วยลดมลพิษ ร่นระยะเวลาทำงานให้เร็วขึ้นอีก 3 เท่า ลดการใช้แรงงาน 10-20% ยังไม่รวมราคาที่ได้เพิ่มจากโรงงาน และรายได้เสริมจากการขายใบอ้อย

ณ วันนี้ จึงเหลือแค่เกษตรกรต้องเลือกเอง...จะเผาอ้อยหรือตัดสด เพิ่มรายได้.

กรวัฒน์ วีนิล