จำนวน นศ.หด-หลักสูตรออนไลน์เพิ่ม เร่งรับมือขยายตลาดนานาชาติ

จากการเสวนาวิชาการอุดมศึกษา เรื่อง “ความล่มสลายของอุดมศึกษาในยุคของการเปลี่ยนผ่าน” จัดโดยสาขาวิชาอุดมศึกษา ภาควิชานโยบายการจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โลกและทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าอุดมศึกษาไม่สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมประเทศและโลกได้ จะทำให้ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งนี้ วิกฤติมหาวิทยาลัยไทย คือจำนวนนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้มีนักศึกษาปริญญาตรีในปี 2560 จำนวนรวม 1,681,149 คน จากปี 2556 จำนวน 1,875,149 คน แบ่งเป็น มหาวิทยาลัยรัฐ ปี 2560 จำนวน 329,027 คน จากปี 2556 จำนวน 665,342 คน มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ปี 2560 มีจำนวน 481,854 คน จาก ปี 2556 จำนวน 236,622 คน มหาวิทยาลัยราชภัฏ ปี 2560 จำนวน 475,611 คน จากปี 2556 จำนวน 562,491 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ปี 2560 จำนวน 135,712 คน จากปี 2556 จำนวน 141,893 คน และสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ปี 2560 จำนวน 258,895 คน จากปี 2556 จำนวน 268,801 คน ส่วนระดับปริญญาโท ปี 2560 จำนวน 112,164 คน จากปี 2556 จำนวน 172,432 คน ขณะที่คุณภาพการเรียนรู้ในยุค 4.0 จะต้องเป็นการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย เน้นการใช้ความรู้สร้างนวัตกรรม โดยการเรียนรู้ต้องยึดตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนเพื่อตอบโจทย์เฉพาะบุคคล และเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและการทำงาน

ด้าน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนมองว่าขณะนี้เป็นความปั่นป่วนของอุดมศึกษาไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับความปั่นป่วน ขณะนี้คู่แข่งของมหาวิทยาลัยไม่ใช่มหาวิทยาลัยด้วยกัน แต่เป็นหลักสูตรออนไลน์ ตลาดของมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กไทยแต่เป็นตลาดระดับโลก ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องรับเด็กจากทั่วโลกมาเรียนได้ ทางรอดของมหาวิทยาลัยคือ สิ่งที่มหาวิทยาลัยทำต้องตอบโจทย์ความต้องการของสังคม อุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ มีความรวดเร็วและต้องสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้น

...

ขณะที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า โลกเข้าสู่ยุคของการทำลาย แต่ก็เพื่อการเกิดใหม่ ปัจจุบันมีหลายอาชีพที่กำลังจะหายไป เช่น นักการธนาคาร นักกฎหมาย รวมทั้งมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกปิดตัว แต่ก็เกิดอาชีพใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยี ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพราะจำนวนผู้เรียนลดลงจากตัวเลขผู้สมัครทีแคสปี 2562 พบว่า มีคนลงทะเบียนแล้วแค่ 269,000 คน ขณะที่คุณค่าของปริญญาบัตรก็ลดลง มหาวิทยาลัยชื่อดัง ระดับโลกเปิดหลักสูตรออนไลน์ให้คนเรียนฟรี ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว “อย่างแรง” หากจะค่อยๆเปลี่ยนก็ไม่ทันโลก.