จี้มหาวิทยาลัยฟังเสียงสะท้อน วิเคราะห์ข้อมูลผลิตคนสอดรับปฏิรูป

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ศาลาดนตรีสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ บรรยายพิเศษเรื่อง โครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และการปฏิรูปการอุดมศึกษากับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมตอนหนึ่งว่า การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะเกิดประโยชน์กับการทำงานด้านอุดมศึกษาที่มีความคล่องตัวและมีผลสัมฤทธิ์ในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายมิติ รวมทั้งสอดคล้องกับแนวโน้มการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้นมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้บัณฑิต ควรเปิดรับข้อมูลต่างๆมากขึ้น พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนกลับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์และปรับใช้กับการผลิตกำลังคน จนเกิดผลการทำงานตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

ซึ่งมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง 3 คณะ เพื่อทำหน้าที่จัดโครงสร้าง อัตรากำลังคน กฎกระทรวง พร้อมกำหนดตำแหน่งบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานตามกฎหมาย ตลอดจนทำหน้าที่โอนกิจการ สิทธิหน้าที่ การจัดทำงบประมาณ และทำหน้าที่ออกแบบระบบการทำงานเชิงบูรณาการของทั้งกระทรวง รวมไปถึงระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างการรอประกาศราชกิจจานุเบกษาจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯอย่างเป็นทางการ ภายใน 90 วัน และเป็นไปตามกรอบเวลาในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ จะมีเวลาเพียง 4 ปี เพื่อเตรียมการทุกอย่างให้มีความพร้อมสมบูรณ์

...

ศ.นพ.อุดม กล่าวด้วยว่า ในส่วนของโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่เป็นภารกิจหนึ่งของกระทรวงการอุดมศึกษาฯที่ต้องส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแล การวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมที่อยู่ในสังกัดกระทรวง หรือกำกับดูแลของรัฐมนตรี ซึ่งการวิจัยเพื่อการพัฒนา ถือเป็นหัวใจของโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ต้องยอมรับความจริงว่า ภาคเอกชนต่างๆ อาทิ SMEs ในประเทศไทยยังขาดความยั่งยืน เพราะขาดการวิจัย และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงขาดเครือข่ายความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ.