“สถานการณ์ข้าวหอมมะลิยังไม่มีปัญหา เป็นเพราะยังมีออเดอร์เก่าข้ามปีและไม่ใช่ฤดูเก็บเกี่ยว ประกอบกับตลาดในประเทศดีขึ้น คนไทยหันมากินข้าวหอมมะลิมากขึ้น แต่ปัญหาใหญ่คือ ข้าวขาวที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง ทำให้การส่งออกลำบาก ครั้นจะเบนเข็มไปตลาดจีนก็ไม่ได้ เพราะคนจีนชอบกินข้าวนิ่ม แต่ไทยส่งออกแต่ข้าวแข็ง แทบไม่มีข้าวนิ่มเลย ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องมาร่วมมือกันแก้ปัญหา”
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย บอกถึงปัญหาของข้าวไทยที่กำลังประสบในขณะนี้...เพราะเมื่อค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ข้าวเวียดนามที่เคยมีราคาถูกกว่าไทยเล็กน้อย กลายมาเป็นถูกกว่าไทยถึงตันละ 40 เหรียญสหรัฐฯ ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปก็จะยิ่งลำบากกันทุกฝ่าย
แนวทางการแก้ปัญหา ร.ต.ท.เจริญแนะทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เริ่มจากภาครัฐต้องมีนโยบายระยะสั้น-กลาง-ยาว และต้องนำระบบโซนนิงมาใช้
...
เพื่อให้ทราบปริมาณผลผลิตที่แท้จริง มีความสอดคล้องต่อความต้องการของตลาดแค่ไหน เราต้องรู้ว่าพื้นที่ใดควรปลูกข้าวพันธุ์ไหน การกำหนด นโยบาย หรือออกกฎหมายใดๆ ควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเข้ามามีส่วนร่วม...ไม่ใช่ทำกันเองแบบ พ.ร.บ.ข้าว ที่เจอกระแสต้านแทบจะทุกฝ่าย
ส่วนชาวนาก็ต้องปรับตัว จะปลูกพันธุ์ไหน สู้กับใคร ขายให้ใคร ไม่ใช่เห็นพันธุ์ไหนได้ราคา แห่ปลูกตามกัน...เราต้องวางแผนตั้งแต่เริ่มปลูก ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการตลาด
ข้าวคุณภาพก็ต้องรักษาคุณภาพไว้เช่นเดิมหรือมากกว่าเดิม เมื่อทุกคนทำข้าวคุณภาพ ไม่ต้องห่วงเรื่องราคา เพราะผู้ส่งออกกว่า 300 ราย จะมา แย่งกันซื้อเอง
“ที่ผ่านมารัฐมองแต่ต้นน้ำอย่างเดียว ไม่เคยมองถึงกลางน้ำปลายน้ำว่าจะค้าขายอย่างไร ไปทิศทางไหน เกษตรกรไม่เคยรู้ ผู้ซื้อต้องการข้าวประเภทไหน รัฐชี้นำหมด ฉะนั้น รัฐควรเปลี่ยนบทบาทมาเป็นแค่พี่เลี้ยง วางนโยบายให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ไม่ใช่ลงมาเล่นเอง ที่สำคัญต้องวางกรอบให้ชาวนาด้วย หมดฤดูปลูก ไม่เหมาะปลูกข้าว แล้วจะปลูกอะไรต่อ พร้อมกับหาตลาดมาให้ด้วย”
ปัญหาอีกอย่าง ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวทำได้เพียงปีละ 20,000 ตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ชาวนาต้องผลิตเมล็ดพันธุ์กันเอง บางทีมีการกลายพันธุ์ ไม่ได้คุณภาพ ฉะนั้น รัฐควรจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ให้เพียงพอต่อความ ต้องการของเกษตรกร
ด้าน ดร.วัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บ.บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวหงษ์ทอง ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม... ข้าวหอมมะลิไทยเริ่มหอมน้อยลง
...
สาเหตุน่าจะมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ฉะนั้นจำเป็นต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้หอมมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องพัฒนาเครื่องตรวจวัดความหอม ให้ผู้ประกอบการสามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็วขึ้น ไม่ใช่เสียเวลาเป็นอาทิตย์เหมือนในปัจจุบัน
นอกจากภาครัฐต้องพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้เพียงพอ ตรงต่อความต้องการของตลาด และควรมีระบบโซนนิงที่ชัดเจน พื้นที่ใดควรปลูกข้าวอะไรหรือพืชชนิดใดแล้ว ยังต้องพัฒนาระบบชลประทานให้ทั่วถึงอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะภาคอีสาน นอกจากนั้น ต้องสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรแบรนด์ของคนไทยให้มากขึ้น เพื่อให้เครื่องจักรเหล่านี้มีราคาต่ำลงให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ประการสำคัญ รัฐควรค่อยๆ ยกเลิกประชานิยมอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร หลังจากปล่อยให้เกษตรกรเสพติดมานาน
ขณะเดียวกันต้องแนะนำให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพผลผลิต หันมายืนบนลำแข้งของตัวเอง ปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง อย่าแห่ปลูกอะไรตามๆกัน เช่น ภาคกลางเหมาะกับการปลูกข้าวนิ่ม ก็ให้หันมาปลูกข้าว กข 59 กข 22 ภาคอีสานปลูกข้าวหอมมะลิ ส่วนพื้นที่ไหนไม่เหมาะปลูกข้าวก็ให้ปลูกอย่างอื่น แบบมีตลาดรองรับ
...
ผู้ประกอบการ เอกชน ผู้ส่งออก ต้องเปลี่ยนบทบาทมาทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรให้มากขึ้น ทำงานแบบพึ่งพากัน แนะนำให้ผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการ...จากเคยเป็นคู่ขัดแย้งต้องเปลี่ยนมาเป็นพันธมิตรคู่คิดไปสู้กับต่างประเทศ
และให้คิดเสมอว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดล้มหายตายจาก จะพังกันทั้งระบบ...เกษตรกรอยู่ไม่ได้ พ่อค้าจะเอาอะไรกิน.
กรวัฒน์ วีนิล