การลงนามสัญญาแบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) อย่างเป็นทางการครั้งแรกของประเทศไทยผ่านพ้นไปแล้ว ระหว่าง “กระทรวงพลังงาน” กับ “ผู้ชนะการประมูล” สำหรับแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ แหล่งเอราวัณ (แปลง G1/61) และแหล่งบงกช (แปลง G2/61)

ผู้ชนะการประมูลแปลงเอราวัณได้แก่ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด และแปลงบงกชคือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด

มหากาพย์ความพยายามเปิดประมูลปิโตรเลียม 2 แหล่งนี้ ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการ ครั้งหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานถึงกับเกรงกันว่า... ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ “ความเสี่ยง” ของวิกฤตการณ์ขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากในปี 2565 นี้ “แหล่งก๊าซธรรมชาติ” หลักจะสิ้นอายุสัมปทานลง

หากติดตามข่าวกันมาต่อเนื่องจะพบว่าการดำเนินงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะแม่งานครั้งนี้ เดินหน้าด้วยความโปร่งใสเป็นธรรม ให้โอกาสอย่างเท่าเทียมแก่ทุกบริษัทที่มาจากทั่วโลก ทุกขั้นตอนก็ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน มีแม้กระทั่งเปิดให้กลุ่มต่อต้านเข้าชมห้องดาต้ารูม...จนทำให้การประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ “PSC” ที่ภาคประชาชนเรียกร้องให้นำมาใช้เสร็จสิ้นลง โดยไม่มีการคัดค้านจากบริษัทที่เข้าแข่งขันแต่อย่างใด

ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้มีว่า...การเซ็นสัญญาครั้งนี้ได้สร้างปรากฏการณ์หลายๆด้านให้กับแวดวงพลังงานไทย...คือก้าวแรกของการขับเคลื่อนด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทยที่ต้องชะงักงันมานานนับ 10 ปี

นับตั้งแต่สิ้นสุดการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 20 เมื่อปี 2550 เป็นต้นมา ถือเป็นการปลดล็อกครั้งใหญ่ในการเดินหน้า “สร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ”

...

แหล่งปิโตรเลียม “เอราวัณ” และ “บงกช” เป็นหัวใจหลักของการผลิต “ก๊าซธรรมชาติ” ของประเทศ เป็น 2 แหล่งใหญ่ที่สุดที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 2.1 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือราวๆร้อยละ 70 ของกำลังการผลิต ก๊าซฯในประเทศ ที่สำคัญ...ก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่งคือ “เชื้อเพลิง” หลักในการผลิต “ไฟฟ้า” ให้กับคนทั้งประเทศ

ความกังวลว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจะแพงทำให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำหนดให้ข้อเสนอราคาขายก๊าซธรรมชาติเป็นเงื่อนไขสำคัญในการคัดเลือกผู้รับสิทธิ โดยให้น้ำหนักคะแนนถึงร้อยละ 65 และท้ายที่สุด...ก็ได้บริษัทที่ชนะการประมูลด้วยข้อเสนอ “ราคาค่าคงที่” สำหรับ “ก๊าซธรรมชาติ” ต่ำที่สุดทั้ง 2 แปลง อยู่ที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู

ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวไว้ว่า เมื่อราคาก๊าซธรรมชาติถูกลงจะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 15-20 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อถึงปี พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นสัญญา

คาดว่า...ราคาค่าไฟจากเดิมที่ประมาณ 3.6 บาทต่อหน่วยจะลดลงมาอยู่ที่ 3.4 บาทต่อหน่วยไปอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 10 ปี

และนี่ยังเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการตามแผน PDP กระทรวงพลังงานในการเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติจาก 30% เป็น 53% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศอีกด้วย

ประเด็นสำคัญมีด้วยว่า...การเซ็นสัญญาครั้งนี้ยังให้ผลประโยชน์กับประเทศชาติมากมายมหาศาล

“ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิตในช่วงระยะเวลา 10 ปีแรกของสัญญา นอกจากจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างต่อเนื่องให้กับประเทศ ยังจะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้ประเทศชาติในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ ปิโตรเลียมและส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไร โดยรวมแล้วทั้งการประหยัดเงินและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้สูงถึง 6.5 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 10 ปี...

นี่คือก้าวย่างสำคัญในการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างของเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างยั่งยืน”

ถึงกระนั้นแม้ว่าการประมูลในครั้งนี้ที่ได้ผู้ชนะซึ่งดำเนินการตามเงื่อนไขใน TOR ทุกประการ แต่ก็มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ยกเลิกประกาศของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน

ด้วยอ้างว่า...เกณฑ์การกำหนดให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตไม่เป็นธรรมและมีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้รับสัมปทานรายเดิม ...แต่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความชัดเจนในคำตัดสินครั้งนี้...คงจะยุติข้อคำถามได้อย่างชัดเจน

ปิดฉาก...มหากาพย์สัมปทานพลังงานแหล่งเอราวัณ-บงกชที่ติดหล่มมานานนับ 10 ปีแล้ว ก้าวต่อจากนี้เพื่อความมั่นคง...“อนาคตพลังงานไทย” ประเทศไทยยังคงมีความจำเป็นต้องเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เพื่อจะได้มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น รองรับความต้องการการใช้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้รับมอบหมายให้เร่งเปิดประมูลสำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยภายในเดือนมิถุนายนนี้

ตัดฉากไปอีกเรื่องร้อนๆไม่น้อยไปกว่ากัน เฟซบุ๊ก “Somkiat Tangkitvanich Page” โพสต์...“นิทาน” เรื่องใหม่ของ กสทช. สะท้อนอีกมุมมองน่าสนใจ “ทีมข่าวสกู๊ปหน้า 1” ขอรวบรัดตัดตอนคร่าวๆไว้ดังนี้

...มีข่าวว่า กสทช.เสนอต่อ คสช. ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44

ออกคำสั่งเพื่อขยายเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 4G ในความถี่ย่าน 900 MHz งวดสุดท้าย ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย โดยอ้างว่า หากไม่ขยายเวลา อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและการประมูลคลื่น 5G ในความถี่ย่าน 700 MHz ซึ่ง กสทช.ต้องการให้เกิดขึ้นในกลางปีนี้

...

ก่อนหน้านั้นไม่นาน ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหนึ่งก็เคยขู่คล้ายๆกับ กสทช. ว่าจะไม่ร่วมประมูลคลื่น 5G หากไม่ขยายเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 4G

สำหรับผมแล้ว ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “นิทาน” อีกเรื่องหนึ่งที่พยายามจะผูกเรื่องการ “อุ้ม” ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ากับการประมูลคลื่น 5G ต่อเนื่องจาก “นิทาน” ก่อนหน้านั้นที่พยายามที่จะผูกเรื่องการ “อุ้ม” ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ากับการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ที่ว่าเป็นนิทาน...เพราะเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ไม่เป็นความจริง เนื่องจากประเทศไทยไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องรีบร้อนประมูลคลื่น 5G ในย่าน 700 MHz ดังที่ กสทช.พยายามผลักดัน ด้วยเหตุผลดังนี้ หนึ่ง...ปัจจุบัน ยังไม่มีบริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ที่ชัดเจน ดังที่ผู้บริหาร AIS ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับหนึ่งของไทยเคยกล่าวไว้เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ว่า...“แม้ 5G มีประโยชน์ที่จะทำอะไรใหม่ๆมากมาย...แต่ไม่ใช่วันนี้”

สอง...กสทช.เองก็ยังทำโรดแม็ปในการประมูลคลื่น 5G ไม่เสร็จ สาม...การไม่เร่งรัดประมูลคลื่น 5G ในปีนี้จะไม่มีผลทำให้ประเทศไทยมีบริการ 5G ช้ากว่าประเทศอื่น...รัฐบาลจึงไม่ต้องกังวลใดๆต่อการที่ผู้ประกอบการขู่ว่า จะไม่เข้าประมูลคลื่น 5G หากไม่ได้รับการยืดเวลาชำระค่าประมูลคลื่น 4G ออกไป

“นิทาน” เรื่องนี้นอกจากไม่สนุกแล้ว ยังมีราคาแพงมาก เพราะหากรัฐบาลและ คสช.หลงเชื่อแล้วยืดเวลาชำระค่าประมูลคลื่น 4G ออกไป ตามข้อเสนอของ กสทช. รัฐก็จะเสียรายได้อย่างน้อย 1.6 หมื่นล้านบาท

จากอัตราดอกเบี้ยที่ กสทช. เสนอให้เก็บต่ำมาก....(คิดเฉพาะ 2 รายคือ AIS และ True ที่ขอยืดชำระไป 7 ปี...ยังไม่นับที่ DTAC ซึ่งขอผสมโรงยืดชำระไปอีก 15 ปี)

...

หวังว่า...ผู้นำรัฐบาล “บูรพาพยัคฆ์” ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากจะไม่หลงเชื่อ “นิทานกระต่ายตื่นตูม” เรื่องใหม่แต่พล็อตเดิม ที่หวังจะเอาเงินของรัฐ...ประชาชนไป “อุ้ม” นายทุนโทรคมนาคมในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง จาก...มหากาพย์พลังงาน “บงกช–เอราวัณ” มาถึงนิทาน... “5G” ก็มีด้วยประการฉะนี้.