พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม
กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาคณะสงฆ์ฉบับที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา
หลังใช้เวลากว่า 3 ปี นับตั้งแต่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) มีคำสั่งที่ 4/2558 ลงวันที่ 28 ส.ค.2558 แต่งตั้ง คณะกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ....โดยมี พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการ มส.เป็นประธานคณะกรรมการ
กฎหมายฉบับนี้มีด้วยกัน 33 มาตรา ครอบคลุมการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมบาลี และสามัญศึกษา ซึ่งขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำ พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม ขึ้นทูลเกล้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้ว และเมื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯลงมา จากนั้นจะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในทันที
สำหรับกลไกสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนการศึกษาคณะสงฆ์ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรมคือ คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่หลักๆคือ กำหนดนโยบาย แผนการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม และมาตรฐานสถานศึกษาพระปริยัติธรรม กำหนดมาตรฐาน และการประกันคุณภาพ อนุมัติหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรม กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคล เช่น อัตรากำลัง เงินเดือนเงินประจำตำแหน่ง เป็นต้น ออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศ เป็นต้น
โดย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้เน้นย้ำต่อเจ้าสำนักเรียน และประธานกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในการประชุมสัมมนาผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาพระปริยัติธรรม เมื่อวันที่ 21-22 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่หอประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม และแสดงความเป็นห่วงด้วยว่า คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมจะเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นต้องรีบทำความเข้าใจ เพื่อให้การทำงานราบรื่น การมีกฎหมายรองรับแม้จะมีประโยชน์ แต่ก็อาจจะเป็นช่องทางให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบได้ด้วยเช่นกัน
...
“พ.ร.บ.นี้เกิดขึ้นมาจากการทำงานหนักของคณะสงฆ์ ซึ่งจะช่วยเชื่อมต่อการศึกษาคณะสงฆ์กับโลกสมัยใหม่ ทำให้มีการบริหารงานที่เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น มีงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล ขณะที่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ควรปรับวิธีการทำงาน ต้องทำงานเชิงรุก เพื่อรองรับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย” นายสุวพันธุ์ กล่าว
ขณะที่ พระราชวรมุนี (พล อาภากโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม ในฐานะรองประธานอนุกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.... ผู้ที่คลุกคลีกับการจัดทำ พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรมมาตั้งแต่ต้น บอกว่า เมื่อมีกฎหมายรับรองการศึกษาของคณะสงฆ์ ประโยชน์ที่จะได้ตามมาคือ 1.มีกฎหมายรับรอง 2.มีงบประมาณแผ่นดินสนับสนุน 3.มีมาตรฐานทางโครงสร้างการบริหารกองธรรม กองบาลี และแผนกสามัญฯ 4.เปิดกว้างด้านการศึกษาเท่าเทียมกัน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และ 5.ทำให้เกิดแรงจูงใจแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่เกิดภาวะสมองไหล
พร้อมกันนี้ พระราชวรมุนี ยังบอกด้วยว่า การทำงานของคณะสงฆ์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เกี่ยวกับ พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม ยังไม่เสร็จสิ้น เพราะหลังจากนี้ต้องดำเนินการจัดทำกฎหมายลูก รวมทั้งระเบียบ ข้อปฏิบัติต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมประมาณ 13 ฉบับ โดยจะเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายและแผนจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม, การกำหนดมาตรฐานการศึกษาพระปริยัติธรรมและการประกันคุณภาพการศึกษา, ระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคล, ระเบียบเกี่ยวกับค่าตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานสอน, ระเบียบการบริหารและจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของสถานศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นต้น
“ทีมข่าวศาสนา” มองว่า พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการคณะสงฆ์ไทยที่จะมีกฎหมายรองรับ เพื่อให้มีการจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ กรณีที่นายสุวพันธุ์ระบุถึง “การใช้อำนาจในทางมิชอบ” ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะสงฆ์ต้องพึงระวังให้จงหนัก
เพราะหากปล่อยให้คนมีอำนาจเพียงไม่กี่คนเข้ามาหาผลประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ แทนที่การศึกษาของคณะสงฆ์จะได้รับการพัฒนาก็กลับกลายเป็นย่ำอยู่กับที่ หรือแย่กว่าเดิมลงไปอีก
คณะสงฆ์ทำงานหนักมาหลายปีกว่าที่จะได้มาซึ่งกฎหมายฉบับนี้ และถือเป็นความหวังสูงสุดในการพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น
เราเชื่อมั่นว่า คณะสงฆ์จะหาทางบริหารเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ที่ได้มาในครั้งนี้ให้มีคุณภาพขึ้นมาได้
เพราะเมื่อคณะสงฆ์มีการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ย่อมหมายถึงคุณภาพของพระภิกษุสามเณร.
ผลที่ตามมา คือ ความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย...
ทีมข่าวศาสนา