ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุม ว่า คิดว่าโดยรวมแล้วส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่กำกับตามความเหมาะสม ไม่ใช่คุมตามความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาค่ารักษาที่ตั้งมาพิจารณาเรื่องนี้ก็เหมาะสม เพราะมีทั้งกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทน รพ.เอกชน และผู้แทนฝั่งผู้บริโภค เป็นต้น ทุกคนก็มาคุยกัน ผลกระทบต้องเกิดในทางที่ดีคือ ผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองที่ดี รพ.เอกชนก็ได้ในแง่ของความโปร่งใส ให้คนศรัทธา

เมื่อถามว่ามีข้อกังวลว่าการกำกับค่ารักษาจะทำให้มีการเอาค่าใช้จ่ายไปเพิ่มในค่าอื่นๆหรือไม่ ศ.นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ตรวจสอบได้ อย่าไปกลัว หากมีปัญหา เรารู้ก็ต้องเข้าไปคุม แต่ตนมองว่า รพ.เอกชนเป็นสถานประกอบการที่ต่างจากสถานประกอบการแบบอื่นๆ ที่จะเอาแต่กำไร เมื่อถามต่อว่าการกำกับราคาจะกระทบกับการเงิน รพ.ไม่มีเงินลงทุนต่อ ศ.นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีผลกระทบกับปัญหาหุ้นตกในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ยังไม่ทราบสัดส่วนคณะทำงานกระทรวงพาณิชย์จะตั้งขึ้นเพื่อพิจารณารายละเอียดเรื่องการกำกับค่ารักษาพยาบาล แต่อยากเสนอสัดส่วนของนักวิชาการ ตัวแทนผู้ป่วย และตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปร่วมด้วย ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคอยากเสนอว่าการกำกับค่ารักษาต้องไม่ใช่แค่การแจ้งราคา เพราะวิธีนี้ทำมาเป็น 10 ปีแต่ก็เห็นแล้วว่าค่ายา รพ.เอกชนสูงกว่าของรัฐ 70-100 เท่า สิ่งที่อยากเห็นคือ การกำกับโดยอ้างอิงจากฐานค่ายา ค่ารักษาในโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่ง รพ.เอกชนเองก็รับได้ และที่มีการวิจัยล่าสุดก็พบว่ามีกำไรอยู่ 60% ไม่ใช่ 20% อย่างที่ รพ.เอกชนระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข้อมูลว่าคนที่เข้า รพ.เอกชนซ้ำมีมากถึง 95% สะท้อนความพอใจในคุณภาพ และราคา น.ส.สารีกล่าวว่า เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งคือเรื่องค่ารักษาแพง แต่กระทรวงแก้ไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของคนส่วนน้อยแต่มีผลกระทบกับระบบสุขภาพของประเทศ.

...